​กรมการค้าต่างประเทศเจรจาขายข้าวผ่านออนไลน์ คิวต่อไปเล็งถกมาเลย์-อินโดฯ-ปินส์-จีน

img

กรมการค้าต่างประเทศปรับแผนใช้ระบบออนไลน์ เจรจาคู่ค้าขยายตลาดข้าวไทย หลังโควิด-19 ทำเดินทางลำบาก เล็งคุยมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และจีน ติดตามสถานการณ์ หลังคุยฮ่องกงไปแล้ว ประสบความสำเร็จสูง มั่นใจขายข้าวไทยได้เพิ่มขึ้นแน่ 
          
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ปรับแผนการเจรจาขายข้าวไทย โดยใช้ระบบออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ และระบบ Zoom ในการพบปะเจรจากับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าข้าวของไทย เพื่อติดตามสถานการณ์และโอกาสในการซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปพบปะกันทำได้ยากขึ้น จากการที่บางประเทศยังมีการล็อกดาวน์ และบางประเทศมีการห้ามบินเข้าประเทศ จึงต้องหันไปใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
          
“กรมฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ส่งออก จัดพบปะทางออนไลน์กับผู้ซื้อผู้นำเข้าในประเทศเป้าหมาย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และจีน เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ สอบถามสถานการณ์การค้า การบริโภคข้าวเป็นยังไง มีอะไรขาดเหลือหรือไม่ มีความต้องการซื้อข้าวเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าต้องการ ก็อย่าลืมนึกถึงไทย เพราะไทยมีข้าวพร้อมส่งออก ไม่มีการจำกัดการส่งออกและข้าวไทยเป็นข้าวดี มีคุณภาพ เชื่อมั่นได้”นายกีรติกล่าว
          
ทั้งนี้ ในส่วนของฟิลิปปินส์ กำลังจะเปิดประมูลข้าวจำนวน 3 แสนตัน ซึ่งไทยจะมีการยื่นประมูลด้วยในวันที่ 8 มิ.ย.2563 คาดว่าไทยน่าจะแข่งขันประมูลได้ ส่วนมาเลเซีย ยังรอดูสถานการณ์ ขณะที่อินโดนีเซีย ก็เช่นเดียวกัน ยังรอดูสถานการณ์อยู่ แต่มั่นใจว่า หากมีความต้องการซื้อข้าว ไทยจะสามารถขายให้ได้ และจีน กำลังเจรจาผลักดันให้จีนปิดการซื้อขายข้าวในส่วนที่เหลือ 3 แสนตันของสัญญาแรกให้จบ เพราะขณะนี้ รถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 มีความคืบหน้า จะมีการลงนามกันในเร็วๆ นี้ ซึ่งในส่วนของการซื้อข้าวและยางพาราจากไทย ก็ควรจะมีข้อยุติด้วย
          


นายกีรติกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวไทย คาดว่า ความต้องการข้าวจะยังคงมีเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องระวังเรื่องการแข่งขันจากคู่แข่ง โดยเวียดนามได้ยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวแล้ว และปีนี้ยังตั้งเป้าส่งออกประมาณ 7 ล้านตัน ใกล้เคียงกับไทยที่ตั้งเป้า 7.5 ล้านตัน ส่วนอินเดีย เพิ่งปลดล็อกให้มีการส่งออกได้ ก็จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดข้าวของไทย
          
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามเรื่องเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวไทยแพงขึ้น เมื่อเทียบกับข้าวของคู่แข่ง ซึ่งกรมฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับข้าวไทยว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพราะมีผลทำให้ผู้ซื้อยอมจ่ายแพงขึ้น
          
สำหรับความคืบหน้าการจัดทำมาตรฐานข้าวพื้นนิ่ม ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะกำหนดรายละเอียดยังไง มาตรฐานแบบไหน เพราะหากมีข้าวทางเลือกเพิ่มเข้ามา ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสในการทำตลาดข้าวได้มากขึ้น เพราะข้าวพื้นนิ่ม เป็นข้าวที่อยู่ระหว่างข้าวหอมมะลิ กับข้าวขาว 100% แต่มีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิ และปัจจุบันตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
          
ส่วนการส่งออกในช่วง 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีปริมาณ 2,590,161 ตัน ลดลง 31.51% มูลค่า 1,735 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.07% หากคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 54,241 ล้านบาท ลดลง 14% มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 669.88 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 28.81%

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง