​เคาะอีกตัว! ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1 หมื่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ 1.5 หมื่น

img

“จุรินทร์”เป็นประธานถก 3 ฝ่าย ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร เคาะราคาประกันรายได้ข้าวจำนวน 5 ชนิด ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 1.5 หมื่นบาท เตรียมนำข้อเสนอเบื้องต้นชง นบข. พิจารณา ก่อนชง ครม.ในลำดับต่อไป พร้อมเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพิ่มศักยภาพด้านการตลาด
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เกี่ยวกับการดำเนินโครงการประกันรายได้ข้าว ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการประกันรายได้ข้าวจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ 1.ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 หมื่นบาท ที่ความชื้น 15% ให้สิทธิ์ไม่เกิน 30 ตันต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 2.ข้าวเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 3.ข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 40 ไร่ หรือ 14 ตัน 4.ข้าวหอมนอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 40 ไร่ หรือไม่เกิน 16 ตัน และ 5.ข้าวหอมปทุม ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 40 ไร่ หรือไม่เกิน 25 ตัน
         
“จะนำผลการหารือ 3 ฝ่ายในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความเห็นขั้นต้นหรือเบื้องต้น เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิจารณา จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินการต่อไป”
         
สำหรับราคาประกันรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ จะขึ้นอยู่กับเวลาที่เกษตรกรขอรับเงินส่วนต่าง โดยมีหลักการ คือ เอารายได้ประกันเป็นตัวตั้ง เช่น ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ลบราคาตลาด หากราคาตลาดขณะนั้นอยู่ที่ตันละ 8,000 บาท จะมีส่วนต่าง 2,000 บาท คูณจำนวนไม่เกิน 30 ตัน ส่วนเกษตรกรที่มีสิทธิ์ จะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งรายชื่อให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเป็นผู้โอนเงินให้กับเกษตรกร
         
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดราคาอ้างอิง โดยจะมีการประกาศราคาอ้างอิงทุก 15 วัน และการจ่ายเงิน ธ.ก.ส. จะจ่ายตรงเข้าบัญชีเกษตรกร พร้อมกันนี้ จะมีการดำเนินมาตรการคู่ขนาน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เช่น การดูแลค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าเก็บเกี่ยว การส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่หรือนาแปลงใหญ่ การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และการประกันภัยพืชผล
         
นอกจากนี้ จะมีการดำเนินมาตรการด้านการตลาด เช่น การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพ ข้าวอินทรีย์ การพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ การพัฒนานวัตกรรมข้าว การดูแลข้าวในช่วงออกสู่ตลาดด้วยการให้สินเชื่อชะลอการขาย การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่เก็บสต๊อกข้าว รวมถึงการเดินหน้าขยายตลาดข้าวด้วยการรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดเก่า เช่น อิรัก และขยายตลาดใหม่

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง