
ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติบุคคล ตรวจเอกสาร ขอสำเนาเอกสารใหม่เป็นอัตราคงที่ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน และช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เผยหากยื่นคำขอผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ จะลดค่าธรรมเนียมให้ 30% จากอัตราปกติ โดยมีผลบังคับใช้แล้ว จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.63
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกฎกระทรวง กําหนดอัตราค่าธรรมเนียม ลดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสําเนาเอกสารพร้อมคํารับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจํากัด พ.ศ.2561 โดยได้ทำการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจํากัดแบบคงที่ ปรับอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งลดอัตราค่าธรรมเนียมบางส่วนกรณีเป็นการยื่นคําขอจดทะเบียนผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) และยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ส่วนราชการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.2561 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563
สำหรับอัตราค่าธรรมใหม่ใหม่ มีดังนี้
1.การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน 1,000 บาท
2.การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิบริษัทจํากัด 500 บาท
3.การจดทะเบียนบริษัทจํากัด 5,000 บาท
4.การจดทะเบียนควบห้างหุ้นส่วน 1,000 บาท บริษัทจํากัด 5,000 บาท
5.การจดทะเบียนการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจํากัดเป็นบริษัทจํากัด 5,000 บาท
6.การจดทะเบียนดังต่อไปนี้ รายการใดรายการหนึ่ง หรือหลายรายการ ได้แก่ จดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือเปลี่ยนแปลงการลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ก่อนหรือหลังจดทะเบียนบริษัทจํากัด การจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของบริษัทจํากัด การจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการ การจดทะเบียนเพิ่มทุน หรือลดทุนบริษัทจํากัด การจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจํากัด หรือการจดทะเบียนเรื่องอื่น ๆ ครั้งละ 500 บาท
7.ใบสําคัญแสดงการจดทะเบียนหางหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัด ฉบับละ 100 บาท
8.การตรวจเอกสาร ได้แก่ การตรวจคําขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัด รายละ 50 บาท การตรวจงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจํากัด รายละ 50 บาท และการตรวจเอกสารทางระบบคอมพิวเตอร์ ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกําหนด
9.การขอสําเนาหรือขอให้ถ่ายเอกสารพร้อมทั้งคํารับรอง รวมทั้งสําเนาเอกสารพร้อมทั้งคํารับรองที่ออกตาม หมายเรียกของศาล หน้าละ 50 บาท ในกรณีที่เป็นการขอสําเนาหรือขอถ่ายเอกสารพร้อมทั้งคํารับรองของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัดนอกเขตสํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทอันเป็นที่ตั้งสํานักงานแห่งใหญ่ หรือเป็นการขอสําเนาพร้อมคํารับรอง ทางระบบคอมพิวเตอร์ ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกําหนด
10.การขอหนังสือรับรองข้อความในทะเบียน รวมทั้งหนังสือรับรองที่ออกตามหมายเรียกของศาล รายการละ 40 บาท
11.การถ่ายข้อมูลที่ได้จัดทําจากระบบคอมพิวเตอร์ ค่าบริการ ครั้งละ 800 บาท ค่าบันทึกข้อมูลซึ่งมีความยาวของระเบียน ไม่เกินสองร้อยอักขระ ระเบียนละ 0.30 บาท ในกรณีที่ระเบียนมีความยาวมากกว่าสองร้อยอักขระ ให้คิดทุกจํานวนสองร้อยอักขระ เป็นหนึ่งระเบียน เศษของสองร้อยอักขระ ให้คิดเป็นหนึ่งระเบียน ระเบียนละ 0.30 บาท
12.การถ่ายโอนข้อมูลจากระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ขอข้อมูล ค่าธรรมเนียมในการให้บริการติดตั้งโปรแกรม เชื่อมโยงข้อมูล ครั้งละ 3,000 บาท ค่าบริการถ่ายโอนข้อมูล รายละ 30 บาท การต่อโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูลเนื่องจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตัดการเชื่อมโยงข้อมูล ครั้งละ 3,000 บาท ในข้อนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะตัดการเชื่อมโยงข้อมูลเมื่อปรากฏว่าไม่มีการใช้บริการ ถ่ายโอนข้อมูลเป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกันนับแต่ติดตั้งหรือต่อโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูลหรือนับจาก มีการถ่ายโอนข้อมูลครั้งสุดท้าย
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมตามข้อ 1 ,2 , 3 , 4 , 5 และ 6 จะลดลง 30% ให้กับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจํากัดที่ยื่นคําขอจดทะเบียนผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ 8 , 9 , 10 , 11 และ 12 แก่ส่วนราชการ
สำหรับการปรับลดค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นการปรับปรุงค่าธรรมเนียมเป็นแบบคงที่ (Flat Rate) ตามที่ธนาคารโลกเสนอแนะ และยังเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เป็นการกระตุ้นให้มีการจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น และในที่สุด จะช่วยให้การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจตามรายงาน Doing Business ของธนาคารโลกดีขึ้น โดยการปรับอัตราค่าธรรมเนียมครั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในแต่ละปีประมาณ 300 ล้านบาท คงเหลือ 200 ล้านบาท
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง