​ดันของดีชุมชนขึ้นทะเบียน GI

img

จบปี 2566 ที่ผ่านมา “กระทรวงพาณิชย์” โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 195 สินค้า และ “ทุกจังหวัด” ในประเทศไทย ล้วนแต่มีสินค้า GI เป็นของตัวเอง
         
ปัจจุบัน สินค้า GI ทั้งหมด มี “มูลค่าการตลาด” ประมาณปีละ 50,000 กว่าล้านบาท และมีแนวโน้มที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
         
เพราะสินค้า GI ไม่ใช่แค่ทำตลาดในประเทศ แต่หลายรายการได้ “โกอินเตอร์” ออกไปทำตลาดต่างประเทศ จนเป็นที่ต้องการ และนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น
         
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา “เดินหน้า” และ “ผลักดัน” ให้มีการขึ้นทะเบียน “ของดีชุมชน” ให้ได้มากขึ้น เพื่อช่วยสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้า และช่วยให้ชุมชน “มีงาน-มีรายได้” เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่ง “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส
         
ที่สำคัญ “สินค้า GI” ยังสามารถใช้เป็น “Soft Power” ในการโปรโมตสินค้าของไทยได้ด้วย ก็ต้องยิ่ง “ให้ความสำคัญ” 
         
ทางด้าน “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในฐานะกำกับดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีนโยบายสอดคล้องกับนายภูมิธรรม โดยเห็นตรงกันว่า จะต้องผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น และได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งลงพื้นที่ เพื่อไป “ตามหา” ของดีชุมชน สินค้าชุมชน ผลไม้ชุมชน ที่เป็นของ “ดี เด่น ดัง” ในพื้นที่ แล้วช่วยให้มีการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
         


“ก็อย่างที่รู้กัน ปี 2566 ที่ผ่านมา สินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั้งหมด มีมูลค่าตลาดกว่า 50,000 ล้านบาท ปีนี้ ก็เลยตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 20% หรือกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยหาตลาดให้กับสินค้า GI ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมสินค้า GI รายการใหม่ ๆ ให้มีมากขึ้น”นายนภินทรกล่าว
         
หลังจากรับนโยบาย “นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้มอบหมายให้ “น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมด้วย “นางกิติยาพร สาธุเสน ผู้อำนวยการกองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” และทีมงาน ลงพื้นที่เพื่อตามหาสินค้า GI ทันที
         
ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 ทีมงาน GI ได้ลงพื้นที่ไปตามหาสินค้า GI รายการใหม่แล้วหลายพื้นที่ เริ่มจาก จ.แพร่ ไปดูแหล่งผลิต “สุราสักทองแพร่” ซึ่งเป็น “สุราพื้นบ้านชั้นดี” และ “มีชื่อ” ของจังหวัดแพร่ และยังได้หารือกับ “ผู้ผลิต” และ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ในจังหวัด เพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียน GI “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” และ “ส้มเขียวหวานวังชิ้น” ด้วย
         
ต่อมาไป จ.ยะลา พบปะกับเกษตรกรผู้เลี้ยง “ปลาพลวงชมพูต้นน้ำป่าฮาลาบาลา” และ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” โดยได้ทำงานร่วมกับจังหวัดเพื่อผลักดันัให้มีการขึ้นทะเบียน GI ปลาทั้ง 2 ชนิด
         
จากนั้น ไป จ.ภูเก็ต ไปสำรวจแหล่งเพาะเลี้ยง “กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต” และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการผลักดันขึ้นทะเบียน GI โดยเห็นว่า กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ชื่อเสียง ใครไปใครมาภูเก็ต จะต้อง “ลิ้มลอง” เมนูกุ้งมังกรเป็นอันดับต้น ๆ และที่สำคัญ เคยถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะในงานเลี้ยง APEC 2022 ด้วย
         


ไม่เพียงแค่ทีมงาน GI ที่ลงพื้นที่ไปตามหาสินค้า GI ในจังหวัดต่าง ๆ “นายภูมิธรรม” ก็ลงพื้นที่ด้วยตนเอง ไปดูแหล่งผลิต “กาแฟน่าน” และตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ของ จ.น่าน เมื่อลองชิมแล้ว นายภูมิธรรมยังยอมรับว่า “ดีจริง” สมคำร่ำลือ
         
ระหว่างที่มีการตามหาสินค้าที่จะผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียน “สินค้า GI” รายการใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 จนถึงขณะนี้ รวมแล้ว 3 รายการ คือ “อะโวคาโดตาก-ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ-ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์
         
แต่หากนับไปตั้งแต่ “รัฐบาลเศรษฐา” เข้ามาบริหารประเทศ เดือน ก.ย.2566 มีการขึ้นทะเบียน GI ใหม่ ถ้าจำไม่ผิด ก็หลายรายการอยู่ ได้แก่ “ข้าวเบายอดม่วงตรัง-มังคุดทิพย์พังงา-ครุน้อยบ้านสะอางศรีสะเกษ-ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย
         
ส่วน GI ของต่างประเทศ ที่มายื่นจด GI ในไทย และได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียน ก็มีหลายรายการ ได้แก่ “เนื้อโกเบ-เมลอนยูบาริ-อิชิดะ กาคิ” ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าจากญี่ปุ่น
         
นี่เริ่มปี 2567 ยังไม่ครบ 2 เดือนดี “ทีมงาน GI” ได้เดินสายลงพื้นที่ ทั้งขึ้นเหนือ ล่องใต้ และทราบมาอีกว่า ยังมีแผนลงพื้นที่ไปทุกภาคของประเทศ เพื่อตามหาสินค้า GI รายการใหม่อีกเพียบ
         
เห็นว่า ตั้งเป้าไว้อย่างน้อย ๆ ต้องมีขึ้นทะเบียน GI ใหม่ ไม่ต่ำกว่า 20 รายการ
         
ทีมงาน GI ทำงานกัน “แข็งขัน” แบบนี้
         
ดีใจแทนพี่น้องเกษตรกร ดีใจแทนผู้ผลิตสินค้าชุมชน ที่จะมีโอกาสผลักดัน “ของดีชุมชน-ของเด่นท้องถิ่น” ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่
         
เป้าหมายที่จะใช้ “สินค้า GI” ช่วย “สร้างงาน-เพิ่มรายได้

คงไม่ใช่เรื่อง “ไกลเกินจริง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด