​เปิดเบื้องหลังการเตรียมการให้ “สมคิด” หารือกับรองนายกฯ จีน เขาทำกันอย่างไร คุยกันแบบไหน ก่อนที่จะถึงวันขึ้นโต๊ะเจรจา

img

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 หรือที่เรียกกันว่า JC เศรษฐกิจไทย-จีน มีระดับรองนายกรัฐมนตรีของไทย-จีน จะมาร่วมประชุม หลังจากที่ได้ประชุมกันครั้งที่ 5 ที่จีน ไปเมื่อช่วงปลายปี 2559 

ในการประชุมเตรียมการครั้งนี้ ฝ่ายไทยมีน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีนมีนางเกา เยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เป็นประธานร่วม  

โดยก่อนการประชุม เจ้าหน้าที่ได้มีการนัดหมายกันก่อนว่า รัฐมนตรีช่วยของทั้ง 2 ประเทศว่างวันไหน เมื่อได้ข้อสรุป ก็กำหนดวัน จากนั้นฝ่ายจีนได้เดินทางมาที่ไทย เพื่อเตรียมประเด็นกับฝ่ายไทย เพราะปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ ถ้ากลับกัน หากจีนเป็นเจ้าภาพ ไทยก็ต้องบินไปหารือที่จีน

บรรยากาศในห้องประชุม จะจัดโต๊ะ 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นฝ่ายจีน ด้านหนึ่งเป็นฝ่ายไทย รัฐมนตรีช่วยของ 2 ประเทศนั่งตรงกัน ถัดมาก็เป็นระดับอธิบดี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเป็นประเด็นที่จะเตรียมการ และเจ้าหน้าที่ตำแหน่งรองๆ ลงไป ส่วนด้านหลัง ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในแต่ละเรื่อง เพื่อว่า มีข้อสงสัยอะไร จะได้ส่งเรื่องได้ทันที

จากนั้น เมื่อได้แนะนำตัวกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่วาระการเตรียมการประชุม โดยภาพรวมด้านการค้า ทั้ง 2 ประเทศยืนยันการผลักดันเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มเป็น 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เช่นเดิม และได้หารือถึงประเด็นยุทธศาสตร์ที่ทั้ง 2 ประเทศจะเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งประเด็นที่จะเน้น คือ การเชื่อมโยงนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน กับนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย และการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง และ Greater Bay Area (GBA) 

ทั้งนี้ ไทยยังได้เสนอเป็นตัวกลางและแสดงบทบาทนำในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนกับ CLMV โดยไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในการดำเนินความร่วมมือต่างๆ ตามระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-อินโดจีน” ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน เช่น การเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การขนส่ง โลจิสติกส์ การยกระดับห่วงโซ่มูลค่าในภาคการผลิต เป็นต้น

ต่อมาได้หารือในประเด็นด้านการค้า ซึ่งไทยได้ขอให้จีนเร่งรัดการนำเข้าข้าวที่ได้ตกลงซื้อขายในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปริมาณ 1 ล้านตัน ในส่วนของแสนตันที่ 5 โดยเร็ว และเร่งรัดนำเข้ายางพาราภายใต้ MOU ที่ได้ตกลงกันไว้ พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราในไทยระหว่างนักลงทุนจีนกับการยางแห่งประเทศไทยด้วย 

ส่วนประเด็นปัญหาอื่นๆ ได้ขอให้จีนเร่งรัดให้สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) มาตรวจสอบกระบวนการผลิตรังนกแดงและโรงงานผลิตและแปรรูปข้าวไทยโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ผลิตและแปรรูปรังนกและข้าวไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสามารถส่งออกสินค้าไปขายในจีนได้ และหารือเกี่ยวกับช่องทางการส่งออกลำไยไทยไปยังตลาดจีน รวมทั้งได้เร่งรัดให้จีนดำเนินการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าไทย 3 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ อีกด้วย  

สำหรับประเด็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงที่นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐจีน จะมาประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น กิจกรรมหลักจะมีการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีไทย การจัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการนำผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนเยี่ยมชมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

“เรามีเวลา 1 ชั่วโมงในการหารือเพื่อวางกรอบประเด็นต่างๆ โดยได้เน้นในประเด็นหลักๆ ที่จะช่วยเพิ่มการค้า การลงทุนระหว่างกัน อย่างเป้าหมายการค้า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ก็ต้องคงไว้ และเน้นมุ่งการเชื่อมโยงนโยบายที่ทั้ง 2 ประเทศมี อย่างไทยได้มุ่ง EEC ก็บอกจีนไปว่าตอนที่มา ขอให้นำนักธุรกิจมาดูลู่ทางการลงทุนใน EEC ด้วย จีนเขาก็ถามว่าต้องการนักลงทุนแบบไหน เราก็บอกไปว่าไทยมีนโยบายอุตสาหกรรม New S Curve จีนบอกว่าไม่มีปัญหา เดี๋ยวจัดให้”น.ส.ชุติมากล่าวถึงรายละเอียดในห้องประชุม

สุดท้าย จะพบกันวันไหน พบกันเมื่อไร ได้มอบหมายให้หัวหน้าทีมประชุมของ 2 ประเทศ ไปดูว่ารองนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศว่างกันวันไหน และนายกรัฐมนตรีของไทยว่างวันไหน เอาตารางไปกางดูกันเลย แล้วมาจับชนกัน เพื่อที่จัดคณะมาแล้วจะได้พบปะกันได้ตามประเด็นที่ได้ตั้งไว้

ส่วนการนำคณะผู้ประกอบการจีนลงพื้นที่ดู EEC ได้ให้ระดับเจ้าหน้าที่ไปเวิร์กต่อว่าจะจัดแบบไหน ยังไง วันไหน เพราะคาดหวังว่า จีนจะจัดนักลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้เคยจัดคณะนักลงทุนเข้ามาแล้ว ก็ประเมินว่า จีนจะให้ความสำคัญไม่แพ้กัน 
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง