​ที่สุด “พาณิชย์” รอบปี 2565

img

กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับที่สุด “พาณิชย์” ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา โดยตลอดทั้งปี มีข่าวสารเกิดขึ้นมากมายในกระทรวงพาณิชย์ ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย ข่าวเด่น ข่าวดัง ข่าวสีสัน ข่าวสนุก ข่าวตื่นเต้น เรียกว่ามีครบทุกรส แต่มีข่าวสารที่สำนักข่าว “CNA Online” เห็นว่า “เป็นที่สุดแห่งปี” จึงขอนำมาสรุปไว้ในที่นี้ ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย
 
“ประกันรายได้ข้าว” ปีที่ 4 ต้องลุ้นกันสุด ๆ



หลังจากที่ “โครงการประกันรายได้” ปีที่ 3 ได้ทยอยจบโครงการไป โดยพืชเกษตร 3 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นรายการที่ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนสิ้นสุดโครงการ จะมีก็แต่ข้าวและยางพารา ที่ต้องจ่ายส่วนต่าง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยางพารา ตั้งหน้าตั้งตารอว่าโครงการปีที่ 4 จะได้ไปต่อหรือไม่ เพราะเป็น 2 ชนิด ที่ราคายังต่ำกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้
         
โครงการประกันรายได้ข้าว คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้อนุมัติโครงการวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เป็นเงินสำหรับจ่ายส่วนต่าง เงินสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท และเงินที่ใช้สำหรับทำมาตรการเสริมเพื่อดึงราคาข้าว
         
แต่วงเงินดังกล่าว ติดปัญหาเกินเพดานหนี้ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ต้องมาหาทางออกร่วมกัน
         
สรุปว่า ต้องหั่นวงเงินลงมา เพื่อไม่ให้เกิดเพดานหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา โดยหั่นวงเงินจ่ายส่วนต่างลงมาจากเดิมประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท เหลือแค่ 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินที่ใช้สำหรับมาตรการคู่ขนาน เช่น เก็บสต๊อก คงเดิม 7.5 พันล้านบาท และเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จใช้เงิน 8.1 หมื่นล้านบาท ไม่มาก ไม่น้อย ไม่เกินเพดานหนี้
         
ในที่สุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2565 และให้จ่ายเงินส่วนต่างย้อนไปตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.2565 และจนถึงปัจจุบันนี้ มีการจ่ายส่วนต่างมาแล้ว 12 งวด
         
เป็นโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 ที่ต้องลุ้น และตื่นเต้นมาโดยตลอดว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เกษตรกรจะได้เงินส่วนต่าง และเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 หรือไม่ แต่ในที่สุด ก็ผ่านฉลุย ด้วยการติดตาม เกาะติด และผลักดันของนายจุรินทร์

ส่วนโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. แต่ผ่านเมื่อใด ไม่ใช่ปัญหา เพราะขณะนี้ทั้ง 3 รายการ ราคาเกินเพดานที่ประกันรายได้เอาไว้ทุกตัว ยกเว้นเพียงยางพารา ที่ยังต้องติดตามว่าจะเข้าได้เมื่อไร เพราะเป็นส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ

โครงการประกันรายได้ข้าว แม้จะมาช้า แต่ก็ยังมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต่างพึ่งพอใจและดีใจ ที่ยังมีตัวช่วยคอยดูแลในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ
 
“ส่งออก”ยังเป็นพระเอกเพิ่มรายได้ประเทศ

         

การแถลงตัวเลขการส่งออก เดือนม.ค.2565 ต้องประสบปัญหาดีเลย์ เพิ่งมาแถลงตัวเลขได้ก็ปาเข้าไปเดือนมี.ค.2565 แล้ว จากปกติที่จะล่าช้าประมาณ 1 เดือน เพราะกรมศุลกากรมีการปรับระบบพิกัดศุลกากรทุก 5 ปี ทำให้ไม่มีรายละเอียดสินค้า มีแต่ตัวเลขรวมกลม ๆ
         
โดยตัวเลขเดือนม.ค.2565 การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ทำได้มูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8% เดือนก.พ.2565 ทำได้มูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.2% รวม 2 เดือน มูลค่า 44,741.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 12.2% เดือนมี.ค.2565 ทำได้มูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 19.5% ทำสถิติมูลค่าสูงสุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่บันทึกสถิติมา รวม 3 เดือน 73,601.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 14.9% จนมีการตั้งความหวังการส่งออกจะเป็นเครื่องจักรกอบกู้เศรษฐกิจและทำรายได้เข้าประเทศ
         
เดือนเม.ย.2565 ทำได้มูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.9% รวม 4 เดือน 97,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.7% เดือนพ.ค.2565 ทำได้มูลค่า 25,509 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.5% รวม 5 เดือน 122,631.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 12.9% เดือนมิ.ย.2565 ทำได้มูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11.9% รวม 6 เดือน 149,184.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 12.7% เดือนก.ค.2565 ทำได้มูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.3% รวม 7 เดือน 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11.5% เดือนส.ค.2565 ทำได้มูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.5% รวม 8 เดือน 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11% เดือนก.ย.2565 ทำได้มูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.8% รวม 9 เดือน 221,366.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.6%

เดือนต.ค.2565 ทำได้มูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.4% พลิกติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน แต่ยอดรวม 10 เดือน มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.1% และเดือนพ.ย.2565 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้ล่าสุด ทำได้มูลค่า 22,308 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 6% ขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยอดรวม 11 เดือน 265,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.6% ยังเกินไปกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3-4%

การส่งออกของไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี เดิมเคยประเมินกันว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าลงได้ และยังได้ร่วมมือกันในการทำกิจกรรมในการขยายตลาด ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยทำสถิติบวกติดต่อกันสูงสุดถึง 18 เดือน แต่เพิ่งมาได้รับผลกระทบในช่วง 2 เดือนหลัง (ต.ค.-พ.ย.) ที่ตัวเลขชะลอตัวลงมา เพราะเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ที่ชะลอตัวลงจากปัญหาสงคราม และเงินเฟ้อ

แต่ในภาพรวม ถือได้ว่าการส่งออกยังคงเป็นพระเอกที่ช่วยกอบกู้เศรษฐกิจ ช่วยทำรายได้เข้าประเทศ ร่วมกับภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มฟื้นตัว
 
“วินวิน โมเดล”ดูแลสินค้าได้ดีสุด
         


ปี 2565 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ราคาสินค้ามีปัญหามากที่สุดปีหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะต้นทุนสินค้าทุกภาคส่วนขยับขึ้นหมด โดยเฉพาะในหมวดเนื้อสัตว์ ทั้งหมู ไก่ ไข่ไก่ ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำมัน ต้นทุนค่าขนส่ง วัตถุดิบ ที่ขยับเพิ่มขึ้น จนทำให้สินค้าดาหน้ากันขึ้นราคาเป็นว่าเล่น
         
กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ความพยายามในการตรึงราคาสินค้าจำเป็น 18 หมวดอย่างมากที่สุด ชะลอการขึ้นราคาให้นานที่สุด จนทำได้สำเร็จในหลาย ๆ สินค้า โดยใช้ “วินวิน โมเดล” ในการปรับขึ้นราคา โดยทั้ง 3 ฝ่าย เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค จะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ และรับภาระกันคนละส่วน ไม่ใช่ผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป 
         
การบริหารจัดการสินค้าในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้สินค้าขึ้นราคาแค่ไม่กี่อย่าง ที่เหลือก็ขอให้ถู ๆ ไถ ๆ ตรึงราคากันไป โดยสินค้าที่ขึ้นราคา ก็มีกลุ่มเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น แต่สินค้าเหล่านี้ ไม่ใช่ขึ้นแล้ว ขึ้นเลย อย่างน้ำมันปาล์มเคยขึ้นไปสูงสุดขวดละ 73 บาท แต่วันนี้ลงมาเหลือแค่ 47 บาทต่อขวด เนื้อหมูกิโลกรัมละ 175 บาท จากที่เคยทะลุ 200 บาท เนื้อไก่ 78 บาท จาก 90 กว่าบาท หรือปุ๋ยเคมี ยูเรียลงแล้ว 20% เป็นต้น
         
ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากนโยบาย “วินวิน โมเดล” ที่กระทรวงพาณิชย์นำมาใช้ในการบริหารจัดการ โดยเกษตรกรต้องขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุน ผู้ผลิต ต้องขายสินค้ามีกำไรให้อยู่ได้ ถ้าจำเป็นต้องขึ้นราคา ก็ต้องขึ้นให้น้อยที่สุด และผู้บริโภค หากจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคา ก็ต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เป็นการแบ่งเบาภาระกันทุกฝ่าย และสามารถช่วยให้กระทรวงพาณิชย์ฝ่าวิกฤตสินค้าแพงในปี 2565 ลงได้ดีพอสมควร
 
เงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดเป็นว่าเล่น  
         


เป็นที่น่าจับตากันเป็นอย่างมากว่าปี 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อ ของไทย จะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบ ทำให้เกิดวิกฤตด้านพลังงาน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และผลิตอาหารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
         
แต่กระทรวงพาณิชย์ก็สามารถบริหารจัดการดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าได้เป็นอย่างดี อย่างที่เคยกล่าวไว้ในหัวข้อเรื่อง ““วินวิน โมเดล”ดูแลสินค้าได้ดีสุด” ซึ่งแม้จะบริหารจัดการสินค้าได้ดีเพียงใด แต่อัตราเงินเฟ้อของประเทศก็ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
         
โดยเงินเฟ้อเดือนม.ค.2565 ประเดิมเดือนแรกสูงขึ้น 3.23% เพราะได้รับผลกระทบจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเป็นหลัก ตามด้วยการสูงขึ้นของเนื้อหมู ไก่ ไข่ โดยตั้งเป้าเงินเฟ้อทั้งปีที่ 0.7-2.4% เดือนก.พ.2565 สูงขึ้น 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี โดยน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยหลัก ตามด้วยสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือนมี.ค.2565 สูงขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และอาหารที่สูงขึ้น เดือนเม.ย.2565 สูงขึ้น 4.65% ชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม อาหารสด เดือนพ.ค.2565 กลับมาสูงขึ้น 7.1% สูงสุด 13 ปีอีกครั้ง โดยได้รับผลกระทบจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า อาหารสด และสินค้าอื่น ๆ
         
เดือนมิ.ย.2565 สูงขึ้น 7.66% สูงสุดในรอบปี สูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุผลเดิม ๆ น้ำมัน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา และกลุ่มอาหารสำคัญ ทั้งหมู ไก่ ไข่ เครื่องประกอบอาหาร เพิ่มสูงขึ้น เดือนก.ค.2565 สูงขึ้น 7.61% เหตุผลยังคงเหมือนเดิม และได้ทำการปรับเป้าตัวเลขทั้งปีใหม่เป็น 5.5-6.5% เดือนส.ค.2565 สูงขึ้น 7.86% ทำสถิติเงินเฟ้อนิวไฮ แต่เริ่มเห็นสัญญาณทรงตัว พอมาเดือนก.ย.2565 สูงขึ้น 6.41% เริ่มชะลอตัวลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มก็ยังคงเป็นน้ำมัน ก๊าซหุงตม เนื้อสัตว์ และผักสด เดือนต.ค.2565 สูงขึ้น 5.98% ชะลอตัวลง 2 เดือนติดต่อกัน พอมาเดือนพ.ย.2565 สูงขึ้น 5.55% ชะลอตัว 3 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าในกลุ่มอาหาร เริ่มปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ กลุ่มพลังงานยังคงทรงตัว
         
ส่วนเงินเฟ้อรวม 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.10% ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่คาดว่า และเงินเฟ้อเดือนธ.ค.2565 ที่จะประกาศในวันที่ 5 ม.ค.2566 คาดว่าน่าจะชะลอตัวลงอีก คงไม่ทำสถิติสูงสุดอีกแล้ว
 
“ปีทองผลไม้”เกษตรกรพอใจมากสุด  
         


ปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ผลผลิตผลไม้มีปริมาณมากถึง 5.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11% ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลิ่นจี่ ลองกอง มะม่วง แต่แทบไม่น่าเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะสามารถบริหารจัดการได้อยู่หมัด และแทบจะไม่มีปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำเลยก็ว่าได้
         
กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการรับมือผลไม้เชิงรุกปี 2565 จำนวนรวม 18 มาตรการ ทั้งการทำตลาดในประเทศ เช่น จัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภค ขายผ่านห้าง ตลาด รถเร่ ร้านอาหาร นำแปรรูป และเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าผ่านอมก๋อย โมเดล และทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก โดยใช้การขนส่งทางเรือ แทนทางบก ซึ่งมีปัญหาในเรื่องซีโร่ โควิด และทางอากาศ แต่ยังไม่ทิ้งทางบก ทำให้การส่งออกผลไม้ไปจีน ไม่มีปัญหาติดขัด  
        
ขณะเดียวกัน ได้ตั้งวอร์รูมติดตามปัญหาอุปสรรค หากมีจะได้เร่งแก้ไข และยังได้จัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ในจีน จัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ร่วมกับผู้นำเข้า ห้าง และช่องทางออนไลน์ จัดกิจกรรมในงานแสดงสินค้า จนทำให้ราคาผลไม้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
         
ทำให้เกษตรกรพึงพอใจกันถ้วนหน้า และกลายเป็นปีทองสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้อีกปีหนึ่ง
 
นับหนึ่งเริ่ม “กองทุน FTA ถาวร”  



หลังจากที่กองทุน FTA ที่อยู่ในความดูแลของกรมการค้าต่างประเทศ ต้องปิดฉากการดำเนินการ หลังทำมานานถึง 15 ปี เพราะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะตามมา จึงได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร และยังได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน           
         
จนในที่สุด ได้มีมติผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวรขึ้นมา และได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลังพิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณา ก็ได้นำเสนอคณะรัฐนตรี (ครม.) พิจารณา จน ครม. ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA ตามที่เสนอ
         
กองทุน FTA ดังกล่าว รัฐบาลจะจัดสรรเงินให้ภายใน 3 ปี ประมาณ 5,000 ล้านบาท เริ่มจากปีแรกจัดสรรให้ 1,000 ล้านบาท ปีที่ 2-3 ปีละ 2,000 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของรายได้ จะมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จากผู้ส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออกภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า ที่คาดว่า จะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี
         
ปัจจุบัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำลังยกร่างพ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ... หรือร่างพ.ร.บ.กองทุน FTA เมื่อยกร่างเสร็จ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง จากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ. เสนอ ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทย
         
สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ปรึกษา ฝึกอบรม และการตลาด และเงินหมุนเวียน เช่น ค่าลงทุนต่าง ๆ ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียน
         
กองทุน FTA แบบถาวรนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งเกษตรกร อุตสาหกรรม และบริการ ต่างยกมือเชียร์กันสุดตัว เพราะ FTA ฉบับใหม่ ๆ ที่ไทยกำลังเจรจาอยู่ ล้วนแต่มีมาตรฐานสูง การมีกองทุน FTA ไว้คอยช่วยเหลือ ก็ช่วยทำให้อุ่นใจขึ้นมาได้ว่า หากมีผลกระทบ ก็มีที่พึ่งอยู่
 
“ส่งออกข้าว”ดีสุดในรอบหลายปี
         


ปี 2565 เห็นแนวโน้มการส่งออกข้าวของไทย จะพลิกฟื้นกลับมา โดยคาดว่าทั้งปี จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านตัน หรือมากกว่า เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ทำได้ปริมาณ 6.11 ล้านตัน และปี 2563 ที่ทำได้แค่ 5.72 ล้านตัน ซึ่งทำสถิติต่ำสุดในรอบ 20 ปีมาแล้ว
         
การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 ที่ทำได้ดี เนื่องจากราคาข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น จากผลพวงเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า หันมาสนใจข้าวไทยมากขึ้น และข้าวไทยยังได้เปรียบในแง่คุณภาพและมาตรฐานที่ดีกว่าข้าวของประเทศอื่น ๆ ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการขยายตลาดเชิงรุก ทั้งการสานสัมพันธ์กับคู่ค้าเดิมและคู่ค้าใหม่ การเพิ่มกิจกรรมทำตลาดข้าวไทย การประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เรื่อยไปจนการทวงคืนตลาดที่เคยเสียไปอย่างอิรักกลับคืนมาได้
         
อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนสิ้นปี จะมีข่าวไทยเสียแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกให้กับข้าวของกัมพูชา แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย เพราะผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ยังเชื่อมั่นข้าวไทย ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน และการส่งมอบ ทำให้มีการสั่งซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงแค่นั้น กระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันยุทธศาสตร์ข้าวไทย ตั้งเป้าไว้ 5 ปี (2563-67) จะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ไม่น้อยกว่า 12 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ทั้งข้าวพื้นนิ่ม พื้นแข็ง ข้าวหอมมะลิ และข้าวโภชนาการสูง แต่ปัจจุบันทำได้แล้ว 6 สายพันธุ์ คาดว่าภายในต้นปี 2566 จะมีเพิ่มอีก 6 สายพันธุ์ ทำได้สำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และน่าจะช่วยส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทยได้ดีขึ้นในอนาคต เมื่อข้าวสายพันธุ์ใหม่ นำปลูกลงแปลงนา และขายในเชิงพาณิชย์ได้

ถือได้ว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 ทำได้กว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาดีเลยทีเดียว     
 
จดสิทธิบัตรการแพทย์-สาธารณสุขเร่งด่วน
         


กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ฉลองครบรอบการก่อตั้งครบ 30 ปี ในวันที่ 3 พ.ค.2565 ด้วยการเปิดตัวบริการจดทะเบียนสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรเร่งด่วน (Fast Track) โดยมีมาตรฐานการพิจารณาคำขออย่างรอบคอบตามข้อกฎหมายและหลักการสากล และในระยะแรก ได้นำร่องให้บริการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรเร่งด่วน ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมรับมือวิกฤตด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ เพื่อประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวได้เร็วขึ้นและเท่าทันสถานการณ์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
         
การเปิดให้บริการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรดังกล่าว เพราะเล็งเห็นว่าปัญหาด้านสาธารณสุข มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้ทุ่มสรรพกำลัง เร่งตรวจสอบสิทธิบัตรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสาธารณสุขของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยลดระยะเวลาจดทะเบียน ทำให้ภาคธุรกิจ นักวิจัย นักประดิษฐ์ ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรในเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น
         
ทั้งนี้ บริการดังกล่าวได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือระบบ e-Filing โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด  
         
ไม่เพียงแค่นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้เปิดให้บริการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ หรือ e-PCT ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถเลือกจดทะเบียนได้กว่า 155 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้คนไทยได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรในต่างประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ป้องกันการลอกเลียนแบบหรือการนำสิทธิบัตรไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันสร้างแรงจูงใจให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และการพัฒนาต่อยอดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย รวมทั้งสนับสนุนนักประดิษฐ์ นักวิจัย นักคิดค้นสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์ https://pct.wipo.int/ePCT ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แถมช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอ กรณีเป็นบุคคลธรรมดาจ่ายเพียง 4,100–4,900 บาท จากเดิม 5,300 บาท และนิติบุคคลจ่ายเพียง 41,000–49,000 บาท จากเดิม 53,000 บาท  
         
เป็นอีกหนึ่งบริการดี ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา
 
ดันเอเปกลุย BCG เร่ง FTAAP
         


การเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเอเปกในช่วงเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีเอเปก โดยสามารถผลักดันให้เอเปก เห็นพ้องต้องกันในการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของเอเปกในอนาคต
         
เรื่องนี้ ถูกปูทางมาตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงกลางปี ก่อนที่จะเสนอให้ผู้นำเอเปกให้ความเห็นชอบ และได้รับการเห็นชอบในที่สุด และยังมีเรื่องการผลักดันความร่วมมือเอเปกให้พัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ ผู้นำเอเปกก็ให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกัน
         
การผลักดัน BCG Model จะเป็นการให้ความสำคัญกับการผลิต การแปรรูป การตลาด ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายที่ไทยให้ความสำคัญ และกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ และยังอยู่ในเป้าหมายในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาการกีดกันทางการค้า และสร้างความยั่งยืนทางการค้า
         
ขณะที่ FTAAP หากทำสำเร็จ จะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิด แทนที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้
         
ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็มีความสำเร็จทั้งการผลักดันให้มีการเปิดกว้างด้านการค้า การลงทุน การสนับสนุน WTO การเพิ่มขีดความสามารถด้านท่องเที่ยว ขนส่ง และโลจิสติกส์เอเปก การเปิดโอกาสให้สตรี Micro SMEs และกลุ่มเปาะบาง ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอีโคโนมี เป็นต้น
         
แต่สิ่งที่สร้างความโดดเด่นและเสียงฮือฮา ก็คือ การนำเสนอซอฟต์ พาวเวอร์ ทั้งอาหาร ที่มีการคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดจากทั่วทุกภาคของประเทศ และในนี้ เป็นวัตถุดิบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ถึง 7 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไวน์เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และว่าที่สินค้า GI กล้วยหอมทองพบพระ จังหวัดตาก  
         
จบการเป็นเจ้าภาพได้แบบมีสาระ และขับเคลื่อนซอฟต์ พาวเวอร์ได้สำเร็จ
 
ตั้ง “ปลัดพาณิชย์คนใหม่” ฮือฮาสุด ๆ
         


คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ได้มีมติอนุมัติการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย โดยแต่งตั้งนายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ แทนนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
         
การแต่งตั้งนายกีรติ ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว ได้สร้างความฮือฮาในหมู่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างมาก เพราะเดิมที มีการคาดหมายกันว่า จะมีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ จากผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีในตอนนั้น ซึ่งมีอยู่ 7 คน คือ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า น.ส.พิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ จากผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพาณิชย์
         
การแต่งตั้งดังกล่าว นอกจากสร้างความฮือฮาแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าผิดคาด เพราะนายกีรติ เคยเป็นอธิบดีมาแล้วก่อนหน้านี้ คือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แต่ขอย้ายตัวเองมาเป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากก่อนหน้า มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันหายดีแล้ว

แต่ที่น่าจดจำไว้ ก็คือ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับกระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นครั้งแรก ที่มีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นมาจากรองปลัดกระทรวงพาณิชย์  
 
เตือนภัย“แก๊งคอลเซ็นเตอร์”มากสุด
         


เป็นอีกปีหนึ่ง ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องออกแรง ออกมาเตือนภัยประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และต้องเตือนภัยกันหลายต่อหลายครั้ง เพราะมีผู้ไม่หวังดี และพวกมิจฉาชีพ ใช้ประโยชน์จากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือช่องทางบริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปหาประโยชน์ และทำการหลอกลวงประชาชนและภาคธุรกิจ จนได้รับความเสียหายเสียเงินเสียทอง
         
เริ่มแรกมีการเอาชื่อกระทรวงพาณิชย์ไปหลอกลวงประชาชน ด้วยการส่ง SMS ยิงมั่ว ๆ เข้ามือถือของประชาชน ใจความว่า “สวัสดี เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของ Shopee เราขอเชิญคุณทำงานเสริมที่บ้าน หาเงินง่าย ๆ วันละ 2,000 บาทด้วยมือถือ แล้วเงินเดือนออกวันเดียวกัน สนใจก็สามารถแอดไลน์มาได้เลย” หากหลงกล กดเข้าไป ก็จะถูกหลอกให้เสียเงิน
         
ต่อมาใช้วิธีการนำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (แบบ พค.0401) ซึ่งเป็นเอกสารที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้ หลังจากที่รับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล เพื่อแสดงว่าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนำไปปลอมแปลงเป็นชื่อธุรกิจของตนเอง เพื่อหลอกลวงว่าธุรกิจของตนเองมีความน่าเชื่อถือ และมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจริง ก่อนชวนเข้าร่วมลงทุน หรือทำธุรกิจ
         
จากนั้นปลอม Facebook และแอปพลิเคชัน Line อ้างว่าเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแต่งรูปและแต่งโปรไฟล์ ให้เหมือนของจริง และส่งข้อมูลถึงผู้ประกอบธุรกิจ ขอตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ หรือเสนอเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้กดเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อแจ้งรายละเอียด หากหลงเชื่อ ก็จะหลอกให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร รหัสผ่าน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เพื่อนไปใช้โจรกรรม

พอเตือนเข้าหนัก ๆ เข้า ก็เลี่ยงไปใช้วิธีอื่น ล่าสุดปลอม Line Official Account โดยใช้ตรา DBD ซึ่งเป็นโลโก้ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แล้วแอบอ้างว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือผู้อำนวยการ ที่ดูแลการจดทะเบียนนิติบุคคล แล้วทักหาผู้ประกอบการให้อัปเดตข้อมูลนิติบุคคล หากใครหลงเชื่อก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการหลอกลวงต่อไป

เรื่องนี้ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกมาเตือนแบบรัว ๆ ถี่ ๆ จนทำให้เป็นอีกเรื่องที่ต้องเตือนกันมากที่สุดในรอบปีเลยทีเดียว
 
ติดตามข่าวสาร “พาณิชย์” ง่ายที่สุด



ปิดท้ายด้วยช่องทางการติดตามข่าวสารของกระทรวงพาณิชย์ ที่จัดทำโดยทีมงาน CNA Online โดยสามารถติดตามได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
         
Line@ ติดตามได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i

Twitter ติดตามได้ที่ https://twitter.com/CNAOnlineTwit

Facebook Fanpage ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/commercenewsagency

Youtube ติดตามได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UC20isyIVU69Oi2BHAk0pPDg

Instagram ติดตามได้ที่ https://www.instagram.com/cna2you/

เป็น 5 ช่องทางที่ติดตามข่าวสารกระทรวงพาณิชย์ ได้ง่ายสุด และเร็วที่สุด

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง