
กรมทรัพย์สินทางปัญญาคัดสุดยอดสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 30 สินค้า จาก 25 จังหวัด นำจัดแสดงในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2025 เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ที่มาชมงานได้ทดลองชิม สร้างโอกาสในการเจรจาธุรกิจ และส่งออกไปต่างประเทศ
น.ส.นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้คัดสรรสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากทั่วประเทศ เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายในงานแสดงสินค้าและอาหาร THAIFEX-Anuga Asia 2025 ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค.2568 ณ ฮอลล์ 11 เลขที่ 11- RR01 และ 11-SS01 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ เมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาชมงาน ได้ทดลองชิมสินค้าและสร้างโอกาสในการเจรจาธุรกิจ สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้า GI ไปยังต่างประเทศ
สำหรับสินค้า GI ที่มาร่วมแสดงสินค้าในครั้งนี้ มีจำนวน 30 สินค้า จาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น กุ้งก้ามกรามบางแพ เนื้อโคขุนโพนยางคำ มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ทุเรียนทองผาภูมิ ไชโป้วโพธาราม ปลาช่อนแม่ลา กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ไวน์เขาใหญ่ ลูกหยียะรัง เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายในงาน กรมยังจัดกิจกรรมสุดพิเศษ ดึงเซเลบริตี้เชฟ ได้แก่ เชฟอาร์ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เชฟเฟิส แชมป์จากรายการ Master Chef ไทยแลนด์ ซีชั่น 2 เชฟซีตรอง แชมป์จากรายการ MasterChef ไทยแลนด์ ซีชั่น 6 เชฟพลอย จากรายการ Master Chef ไทยแลนด์ ซีชั่น 2 และเชฟเนตร Commentator ประจำรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย มาร่วมรังสรรค์เมนูอาหารรสเลิศจากวัตถุดิบสินค้า GI ให้ได้ชิมและชมภายใน GI Pavilion เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลาหมักกาแฟเทพเสด็จ ขนมปังกล้วยหอมทองพบพระราดซอสกาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร กุ้งก้ามกรามบางแพทอดคลุกซอสน้ำปลา ล้านนาทิรามิสุกาแฟเทพเสด็จ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) จัดกิจกรรมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการสินค้า GI ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2025 ณ GI Pavilion เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสทางการค้าให้กับสินค้า GI ไทยด้วย
การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วย GI โดยได้ทำการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นให้ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครอง GI และช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้า GI ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้า GI ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการบริโภคสินค้า GI ทั้งในระดับประเทศและผลักดันการส่งออก ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และชุมชน
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง