​เม.ย.68 ตั้งบริษัทใหม่ 6,325 ราย ลด 3.14% รวม 4 เดือน ลด 4.39% เหตุคนรอดูสถานการณ์

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่ เม.ย.68 มีจำนวน 6,325 ราย ลด 3.14% ทุนจดทะเบียน 32,141 ล้านบาท เพิ่ม 17.86% เลิก 814 ราย เพิ่ม 0.49% ทุนจดทะเบียน 4,131 ล้านบาท ลด 18.94% รวม 4 เดือน ตั้งใหม่ 30,148 ราย ลด 4.39% เลิก 3,921 ราย เพิ่ม 8.34% เหตุคนรอดูสถานการณ์ เพราะเจอผลกระทบทั้งเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาษีสหรัฐฯ ค่าครองชีพ แต่แนวโน้มไตรมาส 3-4 มีลุ้นตั้งใหม่เพิ่ม 
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน เม.ย.2568 มีจำนวน 6,325 ราย ลดลง 3.14% ทุนจดทะเบียน 32,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.86% เพราะมีธุรกิจที่ทุนเกิน 1,000 ล้านบาท 2 ราย คือ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ทุน 14,940 ล้านบาท และบริษัท อิเดมิตสึ อพอลโล (ประเทศไทย) จำกัด ทุน 1,580 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 814 ราย เพิ่มขึ้น 0.49% มีทุนจดทะเบียน 4,131 ล้านบาท ลดลง 18.94% โดยธุรกิจที่เลิก 3 อันดับแรกเหมือนกับธุรกิจที่จัดตั้งใหม่
         
ส่วนยอดรวมจัดตั้งธุรกิจใหม่ 4 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) มีจำนวน 30,148 ราย ลดลง 4.39% ทุนจดทะเบียน 112,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.70% ซึ่งในนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท ถึง 7 ราย มูลค่ารวม 37,499 ล้านบาท โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ส่วนธุรกิจเลิก มีจำนวน 3,921 ราย เพิ่มขึ้น 8.34% ทุนจดทะเบียน 15,990 ล้านบาท ลดลง 6.16% และในนี้ มีธุรกิจเลิกที่มีทุนเกิน 1,000 ล้านบาท 2 ราย รวม 4,128 ล้านบาท โดยธุรกิจที่เลิก 3 อันดับแรกเหมือนกับธุรกิจที่จัดตั้งใหม่
         
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ลดลง ทั้งเดือน เม.ย.2568 และภาพรวม 4 เดือน ปี 2568 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจในช่วงเวลานี้ ต้องเผชิญกับสถานการณ์และแรงกระทบต่าง ๆ จากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้า และมาตรการการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ล้วนส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการจดทะเบียนธุรกิจต่าง ๆ



อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากสภาวการณ์เศรษฐกิจของไทย ที่มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนหลักจากการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการเร่งรัดเบิกจ่ายของการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีงบประมาณ 2568 น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ยอดการจดทะเบียนธุรกิจทั้งปี 2568 เติบโตได้ในช่วงประมณ 90,000 ราย

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์การจัดตั้งธุรกิจใหม่ ในช่วง 4 เดือนของปี 2568 พบว่า มีธุรกิจที่มีการจัดตั้งลดลง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านทั่วไป และธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จากความผันผวนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทย ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่ธุรกิจบางประเภทมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป ธุรกิจขายส่งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจขายยานยนต์เก่า เป็นต้น เนื่องจากกิจกรรมและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล เทรนด์เรื่องสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ส่วนธุรกิจเลิกที่เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ ธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้าทั่วไป และธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ไวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และกลไกการแข่งขัน
         
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,994,979 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.61 ล้านล้านบาท มีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 947,791 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัด 748,685 ราย สัดส่วน 78.99% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.53 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 197,616 ราย สัดส่วน 20.85% ทุนจดทะเบียนรวม 0.43 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด 1,490 ราย สัดส่วน 0.16% ทุนจดทะเบียนรวม 5.38 ล้านล้านบาท โดยนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจบริการ เป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุดมีจำนวน 512,359 ราย ทุนจดทะเบียน 12.85 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 310,856 ราย ทุน 2.57 ล้านล้านบาท และธุรกิจผลิต 124,576 ราย ทุน 6.92 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.06%, 32.80% และ 13.14% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง