“ภัณฑิล” ถกรมช.การค้าตุรกี เห็นพ้องจัดประชุม JTC นัดแรก ลุยร่วมมือฮาลาล

img

“ภัณฑิล” บินร่วมประชุม COMCEC สมัยที่ 39 ที่นครอิสตันบูล ตามคำเชิญของรัฐบาลตุรกี ใช้โอกาสนี้หารือ รมช.กระทรวงการค้าตุรกี เห็นพ้องนัดประชุม JTC ครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีขยายความร่วมมือการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านฮาลาล  
         
นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารด้านเศรษฐกิจและการค้าขององค์การความร่วมมืออิสลาม (the Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation of the Organisation of the Islamic Cooperation : COMCEC) สมัยที่ 39 เมื่อวันที่ 4-5 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ตามคำเชิญของรัฐบาลตุรกี ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิก OIC ในระดับรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศสมาชิก
         
โดยในการไปประชุมครั้งนี้ ได้มีโอกาสพบหารือกับนายมุสตาฟา ทุสจุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าตุรกี เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยฝ่ายตุรกี ได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเวทีที่จะหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-ตุรกี ตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน



ทั้งนี้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องจะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านฮาลาล เนื่องจากไทยมีระบบตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาลที่มีประสิทธิภาพ และมีสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลคุณภาพมาตรฐานสูง จึงมีศักยภาพเติบโตในตลาดตุรกี
         
สำหรับกลุ่มประเทศ OIC ประกอบด้วย สมาชิก 57 ประเทศ ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน ซึ่งนับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศ OIC มากขึ้น
         
ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ OIC มีมูลค่า 76,388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปกลุ่ม OIC มูลค่า 30,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากกลุ่ม OIC มูลค่า 45,831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ข้าว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และถ่านหิน

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง