กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ประกอบการอาหารไทย ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีน Gen Z ที่มีสูงถึง 264 ล้านคน และมีความสามารถในการบริโภคสูงถึง 40% ของการบริโภคทั้งหมด พบนิยมบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหาโรคอ้วน ดีต่อสุขภาพ นิยมบริโภคเพื่อความสุข ความสนุก เน้นรวดเร็ว และประหยัดเวลา ชี้หากศึกษาให้ถ่องแท้ จะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากน.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ถึงการติดตามพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีน Gen Z ยุคใหม่ ที่มีจำนวนประมาณ 264 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรจีนทั้งหมด แต่มีขีดความสามารถในการบริโภคสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 และมีการคาดกันว่าในปี 2035 มูลค่าการบริโภคของชาวจีน Gen Z จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่า 16 ล้านล้านหยวน (80 ล้านล้านบาท) หรืออาจกล่าวได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การเติบโตของตลาดการบริโภคโดยรวม และตลาดวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนโดยชาวจีน Gen Z และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยเจาะขายกลุ่มผู้บริโภคชาว Gen Z
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ยังได้รายงานอีกว่า ชาว Gen Z จีน ได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่ไม่สร้างปัญหาโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคเบาหวาน และเน้นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน โดยไข่ นม ผักและผลไม้ เริ่มเข้ามาแทนที่ปลาและเนื้อแบบดั้งเดิม รวมทั้งลดการบริโภคน้ำตาลและไขมัน แต่ก็ยังไม่ทิ้งความสุขในการรับประทานขนมขบเคี้ยว ทำให้มีการผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้อบแห้ง ถั่ว ช็อกโกแลตที่ปราศจากน้ำตาลหรือมีน้ำตาลต่ำ เป็นต้น และเครื่องดื่มนิยมที่เป็นธรรมชาติไม่ใส่สารเติมแต่ง ส่วนการซื้อส่วนใหญ่จะซื้อผ่านร้านค้าและออนไลน์
นอกจากนี้ ยังนิยมบริโภคเพื่อความสุข ความสนุก เช่น การดื่ม กาแฟช่วงเช้า การดื่มชานมช่วงบ่าย และการรับประทานไอศกรีมระหว่างการชอปปิ้ง เป็นต้น มีความพร้อมที่จะจ่ายสำหรับเรื่องกิน และเพื่อประหยัดเวลา เนื่องจากชาว Gen Z มีความมั่งคั่งกว่ารุ่นพ่อแม่ และเริ่มเข้าสู่วัยทำงานมีรายได้ที่มั่นคงทำให้มีขีดความสามารถในการบริโภคเพิ่มขึ้น จึงนิยมบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและให้ความสำคัญในการทำอาหารลดลงโดยนิยมสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ รับประทานในฟู้ดคอร์ทและรับประทานในโรงอาหาร ทั้งนี้ ยังนิยมอาหารกึ่งสำเร็จรูปและพร้อมรับประทานด้วย เพราะประหยัดเวลาแต่ต้องดีต่อสุขภาพ รวมทั้งมีความตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น เพราะหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่ม Gen Z หันมาใส่ใจต่อสุขอนามัยของอาหารเพิ่มขึ้น
นายภูสิตกล่าวว่า ชาวจีน Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่เริ่มขยับเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในตลาดการบริโภคของจีนในปัจจุบัน จึงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนตลาดการบริโภค ดังนั้น การเข้าใจพฤติกรรม ทัศนคติ ความชอบ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเจาะตลาดจีนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการเข้ามาขยายตลาดในจีน โดยเฉพาะจากรายงานนี้ ชี้ให้เห็นว่าชาวจีน Gen Z มีแนวโน้มการบริโภคที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา ยอมจ่ายเงินในเรื่องการกิน และประหยัดเวลา รวมทั้งมีพฤติกรรมการกินเพื่อให้ตนเองมีความสุข และต้องมีความปลอดภัย
“ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณานำพฤติกรรมการบริโภคเหล่านี้ ไปศึกษาและวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน Gen Z ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การเข้ามาขยายตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าไทยในตลาดจีนประสบความสำเร็จ และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดจีนได้มากขึ้นในระยะยาว” นายภูสิตกล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง