“อภิรดี”สั่งเชิญผู้ซื้อ 24 ประเทศทั่วโลก เจรจาซื้อขายข้าวไทย พร้อมมอบทูตพาณิชย์ลุยโปรโมตข้าวสี สร้างการรู้จัก-เพิ่มการสั่งซื้อ

img

“อภิรดี”สั่งการหาตลาดรองรับผลผลิตข้าวฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ดึงผู้ซื้อจาก 24 ประเทศทั่วโลก เข้ามาเจรจาซื้อข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวไทย 30 ต.ค.-2 พ.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าขยายตลาดข้าวสี มอบทูตพาณิชย์เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรู้จักและกระตุ้นความต้องการให้มากขึ้น เผยผลการใช้นโยบายประชารัฐ เชื่อมโยงตลาดข้าวโพดเลี้ยงและมันสำปะหลัง ประสบความสำเร็จ เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น  
         
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมในการหาตลาดรองรับผลผลิตข้าวฤดูกาลผลิตปี 2560/61 โดยล่าสุดได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญนักธุรกิจจากทั่วโลก มาเจรจาซื้อขายข้าวระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-2 พ.ย.2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ โดยขณะนี้มีผู้ซื้อจำนวน 169 บริษัท จาก 24 ประเทศได้แจ้งตอบรับมาแล้ว เช่น จีน ฮ่องกง แคนาดา สหรัฐฯ ยุโรป แอฟริกา ซาอุดิอาระเบีย และอาเซียน โดยคาดว่าจะมีการตกลงซื้อขายภายในงานทันที 600 ล้านบาท และสั่งซื้อต่อเนื่องภายใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
         
ทั้งนี้ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดข้าวสี ซึ่งเป็นข้าวที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ (หอมนิล) และข้าวไรซ์เบอรี่ โดยจะทำการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสี โรงสีของกลุ่มเกษตร โรงสีของวิสาหกิจชุมชน สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ก่อนขยายผลไปยังจังหวัดอื่น และยังได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เร่งจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณประโยชน์ข้าวสีของไทยซึ่งดำเนินการอยู่แล้วให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยเร็วต่อไป เพื่อกระตุ้นให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
         
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการหาตลาดให้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม (หรือผู้ใช้) และโรงงานอาหารสัตว์ ในรูปแบบของ “โมเดลไตรภาคี” โดยเป็นการจับคู่เชื่อมโยงผลผลิตระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้รับซื้อก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดโดยทั่วไป โดยดำเนินการไปแล้วใน 14 จังหวัด เช่น น่าน นครสวรรค์ ลำพูน กาญจนบุรี และกำแพงเพชร มีปริมาณรับซื้อรวมกันกว่า 151,000 ตัน

ส่วนมันสำปะหลัง ได้เชื่อมโยงผู้เลี้ยงปศุสัตว์ภายในจังหวัดกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในรูปแบบของ “มหาสารคามโมเดล” เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย ลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ เน้นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยขณะนี้มี 15 จังหวัดได้นำโมเดลนี้ไปดำเนินการแล้ว เช่น มหาสารคาม นครราชสีมา กำแพงเพชร อุดรธานี และลำพูน ส่งผลให้เกิดปริมาณรับซื้อรวมกันกว่า 253,000 ตัน
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง