​ยึด“อูเล่ โมเดล”ปั้นโชห่วย! “พาณิชย์”ประสาน “ดีอี-ไปรษณีย์ไทย” เปิดเว็บไซต์ให้ค้าปลีกรายย่อยนำสินค้ามาขายผ่านออนไลน์

img

“สนธิรัตน์”จับมือ “กระทรวงดีอี-ไปรษณีย์ไทย” ใช้ “อูเล่ โมเดล” ยกระดับร้านโชห่วยเป็นไฮบริดโชห่วยที่ค้าขายผ่านออนไลน์ภายใต้แพลทฟอร์มเดียวกันได้ทั่วประเทศ นำร่องปีนี้ก่อน 50 ราย มั่นใจช่วยพัฒนาโชห่วยให้เข้มแข็ง และยังทำให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชน สินค้าเกษตร มีช่องทางการจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น
         
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (เดปป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) , บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อหาแนวทางยกระดับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (โชห่วย) ที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายแสนรายให้เป็น “ไฮบริดโชห่วย” หรือโชห่วยที่ทำการค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยมีแพลทฟอร์มการซื้อขายเดียวกันทั้งประเทศ เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกออนไลน์ “อูเล่” ของจีน

ทั้งนี้ ภายในปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำร่องให้ร้านโชห่วย รวมถึงร้านค้าชุมชนของกองทุนหมู่บ้านที่มีราว 20,000 แห่งทั่วประเทศ ให้กลายเป็นไฮบริดโชห่วยก่อน 50 แห่ง โดยขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกโชห่วยที่มีศักยภาพ คาดว่า จะเปิดตัวได้ในช่วงปลายปีนี้

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับแนวคิดของไฮบริดโชห่วย ดีอีจะเป็นผู้พัฒนาแพลทฟอร์ม หรือเว็บไซต์ของการซื้อขายผ่านออนไลน์ เพื่อให้โชห่วย รวมถึงร้านค้าชุมชนของกองทุนหมู่บ้าน ได้เข้ามาเป็นสมาชิก แล้วเปิดขายสินค้าทางออนไลน์ โดยมีแคตตาล็อกสินค้าแสดงอยู่ภายในเว็บไซต์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ จากนั้นจะไปรับสินค้าที่ร้านโชห่วยเอง หรือจะให้ไปรษณีย์จัดส่งให้ก็ได้

“การขายสินค้าผ่านออนไลน์ นอกจากจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปแล้ว ยังจะมีสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ ของดีของเด่นของชุมชน สินค้าหัตถกรรม ซึ่งอาจจะไม่มีในท้องถิ่นของผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคเข้าไปดูในแคตตาล็อกก็สามารถสั่งซื้อได้ทันที หากร้านค้าไกลจากบ้านตัวเอง ก็สามารถให้ไปรษณีย์จัดส่งสินค้าให้ได้”

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาร้านโชห่วย โดยให้เพิ่มบริการด้านอื่นๆ เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น เช่น รับชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือต่อไปอาจเป็นจุดให้บริการสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่ให้สำหรับผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (วัน สต๊อป เซอร์วิส)

“การดำเนินการเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยยกระดับการทำธุรกิจของโชห่วย ร้านค้าชุมชน ร้านค้าของกองทุนหมู่บ้าน ให้มีความหลากหลายมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เกิดความเข้มแข็งทางธุรกิจ สามารถแข่งขันได้กับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนด้านการบริหารจัดการลดลง เพราะไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน เมื่อลูกค้าสั่งของเข้ามาจึงค่อยสั่งไปยังผู้ผลิต ถือเป็นการสร้างความเติบโตให้กับผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกรในชุมชน มีช่องทางขายสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การขายเฉพาะในชุมชนอีกต่อไป แต่สินค้าสามารถกระจายไปได้ทั่วประเทศ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี”นายสนธิรัตน์กล่าว
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง