​กม.ลิขสิทธิ์ผ่าน ครม. เข้มป้องกันละเมิด เอาผิดผู้ผลิตขายอุปกรณ์แฮก เพิ่มคุ้มครองภาพถ่าย

img

“พาณิชย์”เผยกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแก้ไขใหม่ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ปรับปรุง 3 ประเด็นสำคัญ เปิดโอกาสให้เจ้าของสิทธิ์แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) นำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ได้ทันที ไม่ต้องรอคำสั่งศาล เพิ่มความเข้มเอาผิดผู้ผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮกงานลิขสิทธิ์ และยืดอายุการคุ้มครองภาพถ่ายอีก 50 ปี หลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต มั่นใจช่วยยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ได้ดีขึ้น

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ดูแลและแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่ออินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และยกระดับความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศการค้า การลงทุน และหลังจากนี้ จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป

สำหรับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้ปรับปรุง 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.กำหนดข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยนำวิธีแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Take down) มาใช้ ซึ่งหากเจ้าของสิทธิพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น สามารถแจ้งเตือนไปยัง ISP ให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล

2.ปรับปรุงมาตรการการละเมิดทางเทคโนโลยี โดยเพิ่มการเอาผิดผู้ผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮกงานลิขสิทธิ์

3.ขยายระยะเวลาการคุ้มครองภาพถ่าย ซึ่งเดิมให้ความคุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ผลงาน โดยปรับเป็นการให้ความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์เสียชีวิต



“การปรับปรุงร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างกลไกการคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับความคุ้มครองผลงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ ตลอดจนสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ด้วย”นายวีรศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไปเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติภายใต้ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ดังกล่าวต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า การคุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต หากเจ้าของสิทธิ์พบมีการละเมิดเกิดขึ้น เช่น การละเมิดเพลง ภาพยนตร์ ละคร บนเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถแจ้งเตือนไปยัง ISP เพื่อให้นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันที ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิม เมื่อพบมีการละเมิด ก็ต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับการเผยแพร่ และใช้เวลานาน หรือศาลสั่งแล้ว ก็เอาออกไม่ได้ เพราะผู้ละเมิดอยู่ต่างประเทศ หรือมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ ก็ต้องไปร้องขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์อีก แต่กฎหมายใหม่ ให้เจ้าของสิทธิ์ส่งหนังสือถึง ISP ให้ถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้เลย

ส่วนมาตรการการละเมิดทางเทคโนโลยี ได้กำหนดให้บุคคลใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า จัดหา นำเข้า หรือการค้าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแฮ็กบนอินเตอร์เน็ต เช่น กล่องปลดล็อครหัสเข้าอินเตอร์เน็ต ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี จากกฎหมายปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้ แต่กฎหมายใหม่ จะเอาผิดกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย

ขณะที่การคุ้มครองภาพถ่าย เป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา WCT ที่ไทยกำลังขอเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองมีความต่อเนื่องและยาวนานมากขึ้น

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง