​กรมการค้าต่างประเทศพัฒนางานบริการสู่ยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกการนำเข้า-ส่งออก

img

กรมการค้าต่างประเทศยกเครื่องงานบริการ ปรับใช้ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งการขอใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก หนังสือรับรองนำเข้า-ส่งออก และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า พร้อมเชื่อมข้อมูลกับกรมศุลกากร มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอน ให้กับผู้ประกอบการ
         
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมด้านบริการที่มีประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยได้พัฒนางานบริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า ได้แก่ ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้า หนังสือรับรองการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) จากการให้บริการแบบ Manual มาสู่การให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาต่อยอดจนปัจจุบันสามารถให้บริการแบบดิจิทัลควบคู่กับแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกรมฯ เช่น กรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอน ลดการเรียกเอกสารประกอบการพิจารณา ลดระยะเวลา ลดการเดินทางของผู้ประกอบการ และลดต้นทุนการดำเนินงาน
         
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมฯ สามารถให้บริการแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบสำหรับการให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าแบบไร้กระดาษ (Paperless) ซึ่งขณะนี้มีสินค้าที่ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ National Single Window (NSW) กับกรมศุลกากรแล้ว จำนวน 53 รายการ เป็นการเชื่อมโยงแบบ Paperless จำนวน 35 รายการ จากรายการสินค้าทั้งหมด จำนวน 69 รายการ ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการส่งออก-นำเข้า และยังได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน (e-Form D) โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับศุลกากรปลายทางผ่านระบบ ASEAN Single Window (ASW) ด้วย
         


“การให้บริการแบบดิจิทัลนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอและเอกสารแนบประกอบการพิจารณา ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อคำขอได้รับการอนุมัติแล้ว กรมฯ จะส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของหนังสือสำคัญไปที่ศุลกากรทันที (Real Time) และผู้ประกอบการสามารถไปดำเนินพิธีการทางศุลกากรได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อขอรับหนังสือสำคัญที่กรมฯ อีก”
         
สำหรับการยกเครื่องการให้บริการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาให้เป็นหน่วยงานภาครัฐแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งช่วยตอบโจทย์การให้บริการในยุค New Normal โดยการเว้นระยะห่าง และลดการสัมผัสระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย
         
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้กำหนดนโยบายและแผนงานบริการในอนาคตให้ก้าวสู่ยุค Digital DFT อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการมุ่งเน้นความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen–Centric Government) โดยการนำประเด็นความต้องการของประชาชนมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ปรับปรุงระบบการให้บริการ ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการแบบดิจิทัลครบวงจร พร้อมทั้งเป็นการให้บริการที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง