กรมเจรจาฯ คาด “อาร์เซ็ป” บังคับใช้ปี 64 ชี้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดประชาพิจารณ์ “ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป” มีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประสังคมเข้าร่วมกว่า 200 คน คาดอาร์เซ็ปจะบังคับใช้ในปี 64 หลังสมาชิกจะลงนามกันในปลายปีนี้ เผยไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น ใช้กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้หลากหลายขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มโอกาสในการออกไปลงทุนและดึงดูดการลงทุนเข้าไทย   
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการสัมมนาประชาพิจารณ์ “ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป” ว่า กรมฯ ได้จัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs นักวิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 200 คน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) และการเตรียมปรับตัวรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที หลังจากที่สมาชิกจะมีการลงนามความตกลงในช่วงปลายปีนี้ที่เวียดนาม และคาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564
         
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากอาร์เซ็ป ที่มีต่อไทย พบว่า ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะมีการเปิดตลาดโดยลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้ไทยเพิ่มเติมมากกว่าที่ลดให้ในเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการของไทย จะได้ประโยชน์จากผลการเจรจาอย่างเต็มที่
         
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในการส่งออกไป 16 ประเทศ จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันตามความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับ อีกทั้งเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ปยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากประเทศในกลุ่มและนอกอาร์เซ็ปได้อีกด้วย



นอกจากนี้ อาร์เซ็ปยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษากฎระเบียบและรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม หลังจากการสัมมนาที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้แล้ว กรมฯ มีแผนเดินสายจัดงานสัมมนาในภูมิภาค โดยจะประเดิมจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) และต่อด้วยภาคใต้ (สงขลา) ในเดือนก.ย.2563 เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอาร์เซ็ปอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังจากที่เผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกิจกรรมทางการค้าการลงทุน และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและในภูมิภาคอาร์เซ็ปให้ดีขึ้น
         
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป หากมีผลบังคับใช้ จะเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 3,600 ล้านคน หรือ 48.1% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพี กว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง