“พาณิชย์”ห่วง SMEs กระทบ เร่งตามตัวเพื่อช่วยเหลือ หลังคลอดแผนรับมือสหรัฐฯ ตัด GSP

img

กรมการค้าต่างประเทศถกภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คลอด 4 มาตรการรับมือผลกระทบสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีเม.ย.63 เผยมีแผนช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน การหาตลาด ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้สินค้า พร้อมเดินหน้าตามหา SMEs กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือ หลังกลุ่มใหญ่ตามเจอหมดแล้ว 
         
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในกลุ่มสินค้า 573 รายการ ที่สหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในเดือนเม.ย.2563 เช่น อาหารปรุงแต่ง เซรามิก เคมีภัณฑ์ เครื่องหนังฟอก กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเหล็ก เป็นต้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อที่จะได้รับทราบข้อมูลผลกระทบและความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชนที่อยากจะให้ภาครัฐช่วยเหลือและรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพีแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิจีเอสพี  
         
“ตอนนี้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ กรมฯ ตามเจอหมดแล้ว มีกลุ่มที่กังวลกับไม่กังวลเรื่องถูกตัดจีเอสพี แต่กลุ่มเล็กๆ อย่างผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ SMEs ยังไม่ค่อยเจอ ยังไม่ออกมา เพราะตอนนี้ยังส่งออกได้ ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสหรัฐฯ ยังไม่ตัดจีเอสพี แต่ถ้าตัด ก็จะรู้ว่าตัวเองได้รับผลกระทบ หน้าที่กรมฯ คือ ต้องตามให้เจอ แล้วหาทางช่วยเหลือ ช่วยรับมือกับผลกระทบ”นายกีรติกล่าว
         
สำหรับมาตรการรองรับการถูกตัดจีเอสพีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่จะนำออกมาใช้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมี 4 แนวทาง คือ 1.ด้านการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เช่น อาจจะลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น

2.ด้านตลาด เช่น เร่งทำข้อตกลงทางการค้าโดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อให้ผู้ส่งออกมีตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ สนับสนุนกิจกรรมการขยายตลาดใหม่ โดยการจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดคณะนักลงทุน นักธุรกิจร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนในลักษณะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการเข้าสู่ตลาดใหม่
         
3.ด้านการอำนวยความสะดวก เช่น ลดต้นทุนการผลิต ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า

4.ด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างนวัตกรรม เช่น ส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) สนับสนุนการนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ตอัป) สร้างผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมเพื่อเจาะในตลาดสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง