​“กรมเจรจาฯ”นัดถกภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม เตรียมการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนัดหารือภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เตรียมการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังนโยบายรัฐบาลชัดเจน ไฟเขียวฟื้นการเจรจา หลังหยุดชะงักมานาน เผยที่ผ่านมา ได้ศึกษานโยบายและมาตรการทางการค้าของอียู และศึกษา FTA ที่อียูทำกับประเทศต่างๆ ระบุจะประสานอียูกลับขึ้นโต๊ะเจรจาต่อไป มั่นใจจะสร้างโอกาสทางการค้า ดึงดูดการลงทุนให้ไทยได้เพิ่มขึ้น
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนจะหารือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเตรียมการฝ่ายไทยอย่างรอบคอบและรอบด้านในการเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และจะประสานกับฝ่ายอียูเพื่อหารือกระบวนการ และช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา เนื่องจากขณะนี้อียูยังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง หลังจากที่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาใหม่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
         
“การเตรียมการดังกล่าว เป็นไปตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เรื่องนโยบายขยายความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ที่หยุดชะงักมานาน เนื่องจากสถานการณ์การเมือง”
         
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ศึกษาติดตามพัฒนาการด้านนโยบายและมาตรการทางการค้าของอียูมาเป็นระยะ นับตั้งแต่การเจรจาหยุดชะงักไปในปี 2557 รวมทั้งศึกษาความตกลง FTA ที่อียูทำกับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น เพื่อประเมินผลกระทบต่อไทย รวมถึงความคาดหวังของอียูในการทำ FTA กับประเทศต่างๆ
         
นางอรมนกล่าวว่า อียูเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก มีประเทศในยุโรปเป็นสมาชิกถึง 28 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น และเป็นนักลงทุนลำดับ 2 ของไทย มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่เกื้อหนุนเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยการจัดทำ FTA กับอียูจะเป็นการขยายตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ไทยเป็นฐานหรือศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้า
         
ในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัว 6.5% จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.1% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง