​ใช้สิทธิ์ FTA-GSP ส่งออก 4 เดือนมูลค่า 2.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5%

img

กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิ์ FTA และ GSP 4 เดือนปี 62 มีมูลค่า 2.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิ์สูงสุด คาดตั้งแต่ 1 ก.ค.62 เริ่มใช้ Form D แบบซื้อขายผ่านนายหน้า จะช่วยให้ไทยเพิ่มยอดการใช้สิทธิ์ส่งออกไปยังอาเซียนและ CLMV ได้เพิ่มขึ้นอีก ส่วนการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 22.15% สหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่ง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่ารวม 24,274.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 80.27% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 22,546.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.88% มีอัตราการใช้สิทธิ์คิดเป็น 79.79% ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ FTA ไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง และภายใต้ GSP มูลค่า 1,727.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.15% มีอัตราการใช้สิทธิ 87% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP 

สำหรับการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA จำนวน 12 ฉบับ โดย FTA อาเซียน-ฮ่องกง เป็นฉบับล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2562 พบว่า ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 8,272.23 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.จีน มูลค่า 6,224.76 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 2,669.72 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 2,578.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 1,535.61 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ กรมฯ คาดว่าจะมีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในการส่งออกไปยังอาเซียนและ CLMV เพิ่มมากขึ้นอีก หลังจากจะเริ่มใช้ Form D ที่ใช้หลักการซื้อขายผ่านนายหน้า 2 รูปแบบควบคู่กัน คือ Third Country Invoicing ร่วมกับ Back-to-Back ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2562 โดยจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าสินค้าที่ใช้ Form D แบบ Third Country Invoicing ที่แนบ invoice ของพ่อค้าคนกลางประกอบการใช้สิทธิฯ ควบคู่กับมาขอ Form D แบบ Back to Back เพื่อกระจายสินค้าขายต่อไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะการขายต่อไปยังประเทศกลุ่ม CLMV ได้ ซึ่งจะเอื้อต่อระบบการค้าปัจจุบันที่มีการซื้อขายผ่านนายหน้า และช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีเครือข่ายทางการค้าและมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้มีแต้มต่อเพื่อแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงจากการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังจะทำให้ไทยสามารถพัฒนาเป็นฮับกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนได้ด้วย

นายอดุลย์กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ (ญี่ปุ่นตัดสิทธิการให้ GSP แก่ไทยตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2562) ที่มีมูลค่า 1,727.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.15% พบว่า สหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 1,591.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.21% มีอัตราการใช้สิทธิ 106.63% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 1,492.64 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และแว่นตาที่ไม่ใช่กันแดด

“กรมฯ ได้ติดตามกรณีที่สหรัฐฯ ระงับสิทธิ์ GSP อินเดีย ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.2562 พบว่าจะเป็นโอกาสของไทยที่จะผลิตและส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าอินเดียในสหรัฐฯ เช่น ของทำด้วยหิน กระเป๋าถือและของที่พกติดกระเป๋าทำด้วยหนัง เครื่องจักสาน คาร์บอนกัมมันต์ (ถ่านสำหรับกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศ) และแผ่นทำด้วยโพลิเมอร์ของโพรพิลีน เนื่องจากอินเดียจะต้องเสียภาษีนำเข้าปกติที่ประมาณ 0.1-54.6% ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากอินเดียมีต้นทุนสูงขึ้น”นายอดุลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการใช้สิทธิ์ประโยชน์ฯ ไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ซึ่งจะต้องมีการติดตามปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกอย่างใกล้ชิด ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน เพราะมีผลต่อการใช้สิทธิประโยชน์ฯ โดยกรมฯ จะไม่หยุดส่งเสริมและผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก และจะเดินหน้าปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการจัดกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ บรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit   
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง