​เปิดหลักเกณฑ์ตีมูลค่าไม้ยืนต้น 4 กลุ่ม สำหรับใช้เป็นหลักประกันกู้เงิน เผยยิ่งโตช้ายิ่งมีมูลค่ามาก

img

ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่า ตีมูลค่าไม้ยืนต้นออกเป็น 4 กลุ่ม สำหรับใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ยิ่งโตช้า ยิ่งมีมูลค่ามาก เผย “ไผ่” แม้จะไม่ใช่ไม้ยืนต้น แต่ก็ใช้เป็นหลักประกันได้ พร้อมเปิดวิธีประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น 3 วิธี แต่การเปรียบเทียบราคาตลาด เหมาะสมกับไทยมากที่สุด ด้าน “กรมพัฒน์”รุกต่อ เตรียมหาถือสถาบันการเงินรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันเพิ่มเติม
         
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บังคับหลักประกัน สถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ประเด็น “ต้นไม้มีมูลค่า ประเมินราคาอย่างไร” ไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง ทำให้รู้รายละเอียดสำหรับการนำต้นไม้มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจว่ามีต้นไม้ชนิดไหนบ้าง มูลค่าต้นไม้แต่ละชนิดเป็นอย่างไร และยังได้รู้ถึงหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อใช้เป็นหลักในการใช้ไม้ยืนต้นเพื่อเป็นหลักประกันในการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน
         
ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจมีความก้าวหน้า และช่วยให้ผู้ปลูกต้นไม้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น กรมฯ ได้เตรียมหารือกับสถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย  ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้สถาบันการเงินเปิดรับไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ปัญหา 


ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์
         
ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้มาใช้เพื่อแบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์  กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก และกลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง
         
สำหรับต้นไผ่ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แต่ปัจจุบันมีการนำไม้ไผ่มาแปรรูปและทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ดังนั้น การนำไม้ไผ่มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องของคู่สัญญาระหว่างผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันที่จะตกลงกัน แต่ในมุมมองของไม้มีค่า ไผ่ถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ


นายไพรัช มณฑาพันธุ์

นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย กล่าวว่า การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นเพื่อรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ มี 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 การประเมินโดยคิดจากมูลค่าต้นทุน คือ มูลค่าของไม้ยืนต้นจะเท่ากับผลรวมของต้นทุนทั้งหมดในการพัฒนาผลผลิต วิธีที่ 2 การประเมินโดยเปรียบเทียบราคาตลาด โดยการวิเคราะห์มูลค่าจากการซื้อขายต้นไม้จริง การเปรียบเทียบราคา การใช้ข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลราคาไม้แปรรูปในตลาดเปิด และวิธีที่ 3 การประเมินโดยคิดจากรายได้ คือ การประเมินมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิที่จะได้มาในอนาคต
         
“วิธีการประเมินไม้ยืนต้นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ การประเมินราคาโดยเปรียบเทียบราคาตลาด โดยสืบหาและเทียบเคียงราคาซื้อขายในตลาดให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และปัจจุบันมีการซื้อขายต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ครบถ้วน แพร่หลาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินราคาต่อไป”นายไพรัชกล่าว

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง