อาเซียนเตรียมกำหนดท่าทีกู้วิกฤต WTO หลังกลไกแก้ข้อพิพาททางการค้าไม่ทำงาน

img

อาเซียนเป็นห่วงกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ไม่ทำงาน หลังสมาชิกองค์กรอุทธรณ์จะหมดวาระเดือนธ.ค.อีก ทำให้เหลือคนทำงานแค่ 1 ตำแหน่ง และยังเลือกใหม่ไม่ได้ เหตุสมาชิกร้องปฏิรูป WTO ก่อน เตรียมนัดผ่าทางตันในเวทีประชุมซีออม กำหนดท่าทีอาเซียนกู้วิกฤติ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้หารือร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับจัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่องการปฏิรูป WTO มุมมองของอาเซียน โดยขณะนี้อาเซียนมีความเป็นห่วงกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO ในอนาคตว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด หลังจากที่ WTO ยังไม่สามารถเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ที่จะมีตำแหน่งว่างลงถึง 6 ตำแหน่ง จาก 7 ตำแหน่ง และจะเหลือคนทำงานเพียงตำแหน่งเดียว ภายในเดือนธ.ค.ปีนี้

“เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ที่แต่ละประเทศมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (เอ็นทีบี) และมาตรการทางการค้า (เอ็นทีเอ็ม) เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าถือเป็นหัวใจสำคัญของ WTO กำลังจะหยุดทำงาน เนื่องจากตำแหน่งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ 7 ตำแหน่ง ได้หมดระยะการทำงานแล้ว 4 ตำแหน่ง และอีก 2 ตำแหน่งจะหมดวาระการทำงานในเดือนธ.ค.2562 ทำให้เหลือคนทำงานเพียงแค่ 1 ตำแหน่ง ดังนั้นหากไม่สามารถคัดเลือกผู้ที่มาเป็นต่อได้ จะทำให้ WTO ไม่สามารถพิจารณาคดีร้องเรียนอะไรได้ เพราะองค์ประกอบไม่เพียงพอ” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ อาเซียนในฐานะที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เป็นสมาชิก WTO ด้วย จึงเห็นพ้องให้หยิบยกเรื่องนี้หารือกันต่อในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (ซีออม) ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเม.ย. 2562 เพื่อหาท่าทีร่วมของอาเซียนเรื่องการปฏิรูป WTO และร่วมแสดงบทบาทของอาเซียนในการกู้วิกฤติขององค์กร และคงไว้ซึ่งความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี หลักการค้าเสรีที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติของ WTO

“สาเหตุที่ยังไม่มีการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพราะสมาชิกบางประเทศต้องการให้มีการปฏิรูป WTO ทั้งระบบก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา การทำงานขององค์กรอุทธรณ์ปฏิบัติเกินขอบข่ายหน้าที่กำหนดไว้ เช่น พิจารณาคดีอุทธรณ์เกิน 90 วัน หรือบางคดีมีการวินิจฉัยเกินความจำเป็น ทำให้กลายเป็นออกกฎหมายใหม่ที่กระทบต่อสมาชิก WTO เป็นต้น แต่ในส่วนของอาเซียนมองว่าหากล่าช้าก็จะกระทบต่อการระงับข้อพิพาทเช่นกัน เพราะปัจจุบันสถานการณ์การค้าได้เปลี่ยนแปลงไป มีการใช้มาตรการทางการค้า เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จึงต้องมีกลไกระงับข้อพิพาท หรือมีอนุญาโตตุลาการขึ้นมาดูแล” นางอรมนกล่าว

สำหรับคดีที่ค้างอยู่ใน WTO พบว่าคดีที่ไทยถูกฟ้องหรือขอหารือมี 4 เรื่อง ได้แก่ คดีน้ำตาล บราซิลขอหารือไทย คดีบุหรี่นำเข้าบุหรี่ โดยฟิลิปปินส์ฟ้องไทย ซึ่งพิจารณาจบแล้วคือไทยถูกตัดสินแพ้ คดีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สหภาพยุโรปของหารือไทย และมาตรการเอดีเหล็ก โดยโปแลนด์ฟ้องไทย ซึ่งเรื่องยุติแล้ว โดยไทยปรับระเบียบแก้ไขปัญหา และไทยฟ้องประเทศต่างๆต่อ WTO ทั้งหมด 14 คดี โดยฟ้องสหรัฐ 5 คดี สหภาพยุโรป 4 คดี ที่เหลือฟ้องประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง