“พาณิชย์”ย้ำไม่ทบทวนการใช้ “เซฟการ์ด” อุ้มเหล็ก หวั่นคู่ค้าตอบโต้ ทำอุตสาหกรรมอื่นซวย

img

“พาณิขย์”ยันไม่ทบทวนการยกเลิกใช้เซฟการ์ดปกป้องเหล็กในประเทศ หลังการพิจารณาข้อมูลพบการนำเข้าลดลง อุตสาหกรรมภายในแข็งแรงขึ้น หากใช้ต่อ อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องส่อโดนหางเลข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องปรับอากาศ แถมล่าสุดเกาหลีใต้ จีน อียิปต์ ตั้งท่าขอเจรจาหรือตอบโต้แล้ว ส่วนผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้ใช้ SMEs หนุน ระบุพร้อมชี้แจงนายกฯ หลังกลุ่มเหล็กจ่อยื่นร้อง
           
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศขอให้ขยายเวลาการใช้ใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard: SG) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ต่อไปอีก 3 ปีว่า คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนแล้วเห็นว่าไม่ควรจะขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องออกไปอีก เพราะได้ใช้มา 6 ปีแล้ว ครั้งละ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 27 ก.พ.2556 จะสิ้นสุดในวันที่ 26 ก.พ.2562 นี้ เพราะข้อมูลผลการไต่สวนไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าลดลง ส่วนแบ่งสินค้านำเข้าลดลง อุตสาหกรรมภายในมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น มีผลขาดทุนลดลง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมภายในไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า การต่ออายุมาตรการจึงไม่มีความจำเป็น เพราะไม่เข้าตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
          
ทั้งนี้ หลังจากมีข่าวว่าไทยกำลังจะพิจารณาต่ออายุการใช้มาตรการปกป้อง ประเทศที่ส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ได้ส่งสัญญาณที่จะขอเจรจากับไทยเพื่อขอให้ชดเชยทันที โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้แสดงเจตนาชัดเจนในการขอเจรจาเพื่อให้ไทยชดเชยทางการค้าและสงวนสิทธิในการตอบโต้ทางการค้าไว้แล้ว ขณะที่ตุรกี อียิปต์ และจีน ก็ได้เริ่มแสดงท่าทีเช่นเดียวกัน
         
“ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับสินค้าเครื่องปรับอากาศของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกี หลังจากที่ไทยต่ออายุมาตรการเซฟการ์ด โดยตุรกีได้ใช้มาตรการตอบโต้ ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศเดือดร้อน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในประเทศก็ไม่ได้ช่วยเหลือหรือช่วยเยียวยาอะไร เหมือนกับส่งออกอยู่ดีๆ ก็มาโดนหางเลข จากการที่ไทยได้ต่ออายุการใช้เซฟการ์ด มาครั้งนี้ เมื่อมีข่าวจะพิจารณาต่ออายุ หลายๆ ประเทศก็เริ่มขยับ แต่เมื่อไทยไม่ต่อ ก็คงจะไม่มีผลเสียอะไรเกิดขึ้น”น.ส.ชุติมากล่าว
         
น.ส.ชุติมากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม 86 ราย ทั้งสถานทูต ผู้ผลิตต่างประเทศ สมาคมผู้ใช้ อุตสาหกรรมต่อเนื่องและผู้นำเข้า โดยกลุ่มผู้ผลิตเหล็กไม่เห็นด้วยที่ไม่ต่ออายุการใช้มาตรการปกป้อง ส่วนกลุ่มผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ต่อเรือ ผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการที่เป็น SMEs ที่มีการจ้างงานหลายแสนคน ที่จำเป็นต้องใช้สินค้าเหล็กเจืออื่นๆ เป็นวัตถุดิบในการผลิต เห็นว่าไม่ควรต่ออายุ เพราะได้ช่วยเหลือมา 6 ปีแล้ว และยังมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะมีการนำความเห็นไปประกอบการพิจารณาผลการทบทวนชั้นที่สุดต่อไป
          
ส่วนกรณีที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก จะยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการยกเลิกใช้มาตรการปกป้องนั้น กระทรวงฯ จะทำการชี้แจงต่อนายกฯ เพื่อให้รับทราบถึงที่มาที่ไปของการไม่ต่ออายุมาตรการปกป้องต่อไป
          
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนได้รับการคุ้มครองจากมาตรการของรัฐมาโดยตลอด ซึ่งทุกมาตรการยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนรวม 19 ประเทศ โดยใช้มาตรการมาตั้งแต่ปี 2546–2565 ในอัตราสูงสุดถึง 109.25% และสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากจีน มีมาตรการ AD มาตั้งแต่ปี 2555-2566 ในอัตรา 14.28-19.47% และยังมีมาตรการ SG สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือที่มีมาตรการตั้งแต่เดือนมิ.ย.2557 จนถึงมิ.ย.2563

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง