​กรมเจรจาฯ จับตา “เบร็กซิต” หลังอังกฤษจ่อเสนอแผนฉบับใหม่ ป้องกันกระทบการค้า-ลงทุนของไทย

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับตาสถานการณ์ทางการเมืองของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด หลังเตรียมเสนอแผนเบร็กซิตฉบับใหม่ต่อรัฐสภา ที่อาจมีการเพิ่มเติมเงื่อนไข หรือปรับปรุงรายละเอียดในข้อตกลงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ เผยผลศึกษาผลกระทบต่อไทย พบไม่กระทบภาพรวมการค้า แต่ด้านสินค้าต้องเจรจาไม่ให้ส่วนแบ่งไทยลด และเร่งเจรจา FTA ส่วนด้านลงทุน มีโอกาสดึงลงทุนเข้าอีอีซี     

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร จะเสนอแผนเบร็กซิตฉบับใหม่ต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรในวันที่ 21 ม.ค.2562 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งการตัดสินใจออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การจัดการลงประชามติในเรื่องเบร็กซิต ครั้งที่ 2 หรือการยื่นขอเจรจาแก้ไขความตกลงเบร็กซิตกับอียู หรือการขอขยายเวลาการออกจากอียูจากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค.2562 ออกไป ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และต้องเตรียมการรับมือ เพราะจะมีผลกระทบต่อการค้าของไทยกับสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ผลกระทบจากเบร็กซิตต่อไทย กรมฯ ได้ประเมินได้ใน 3 ด้าน คือ 

ด้านภาพรวมการค้า เบร็กซิตน่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการค้าไทยไม่มาก เนื่องจากในช่วงแรกกฎระเบียบของสหราชอาณาจักรต่อประเทศที่สามน่าจะยังยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าไรนัก แต่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากความต้องการซื้อที่ลดลงของสหราชอาณาจักร เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ 

ด้านสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่อียูมีการกำหนดโควตาภาษีกับไทยในปัจจุบัน เช่น สัตว์ปีกแช่เย็นและแช่แข็ง มันสำปะหลัง และข้าว เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียู จะต้องมีการแบ่งโควตาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร ไทยจึงต้องเร่งเจรจากับทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่เคยได้ในตลาดทั้งสอง แต่ผลจากการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียู ทำให้ต้องเร่งหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ จึงเพิ่มโอกาสของไทยในการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับสหราชอาณาจักร หากมีการเจรจาในเวลาที่เหมาะสม 

ด้านการลงทุน เป็นโอกาสที่ดีที่จะชักชวนนักลงทุนสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และในสาขาที่สหราชอาณาจักร มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การบินและโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมของไทย และการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าลำดับที่ 18 ของไทย และอันดับที่ 2 จากอียู ปี 2560 มีมูลค่าการค้าประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.53% ของการค้าทั้งหมดของไทย
 
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง