​สหรัฐฯ ส่งคนพบ “พาณิชย์” ย้ำไม่แก้มาตรฐานแรงงานเป็นสากล จะมีผลต่อการได้สิทธิ GSP

img

สหรัฐฯ ส่งคนพบ “พาณิชย์” ติดตามความคืบหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เผยหากไม่ดำเนินการ อาจมีผลต่อการพิจารณาให้สิทธิ GSP กับสินค้าไทยได้ “บุณยฤทธิ์”ยันทำเต็มที่ เดินหน้าแก้ไขปัญหาแล้ว 5 ข้อ เหลือ 2 ข้อ ที่ต้องทำให้สอดคล้องกับกฎหมายไทย ส่วนเรื่องการนำเข้าหมู อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย คาดต้นปี 62 รู้ผล ก่อนนำไปหารือกับสหรัฐฯ ต่อ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังนายลูอิส คาเรช ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ด้านแรงงาน เข้าพบหารือ ว่า สหรัฐฯ ได้มาสอบถามความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยในด้านแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสมาคม การคุ้มครองสิทธิแรงงานในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง หลังจากที่ USTR มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงกฎหมายแรงงานใน 7 ประเด็น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และได้ระบุว่าหากไทยไม่ดำเนินการตาม อาจมีผลต่อการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐฯ ที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาจากทั่วโลก รวมถึงไทย

ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงไปว่า ตามข้อเรียกร้องของ USTR นั้น ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 5 ข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ILO ส่วนอีก 2 ข้อ กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนก่อน เพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ การให้แรงงานต่างชาติในไทยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างชาติได้ ตามกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดไว้ แต่กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนประเด็นให้แรงงานต่างชาติในไทยมีสิทธิ์ที่จะพูด หรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี กระทรวงแรงงานได้หารือกฤษฎีกาแล้ว ได้คำตอบว่าอาจขัดกับกฎหมายอาญาของไทย เพราะการจะพูดอะไรก็ได้ในไทย ต้องไม่กระทบ หรือหมิ่นคนอื่นจนเกิดความเสียหาย ซึ่งได้ยืนยันไปแล้วว่า ไทยมีการดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว และขอให้รายงานไปยัง USTR ด้วย

“หาก USTR จะตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าไทย เพียงเพราะไทยไม่ทำตามที่ USTR เรียกร้องก็ไม่เป็นไร แต่กระทรวงพาณิชย์ จะพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อให้สหรัฐฯ คงการให้สิทธิแก่สินค้าไทยต่อไป โดยขณะนี้ USTR อยู่ระหว่างการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ประจำปี 2563”นายบุณยฤทธิ์กล่าว

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า สหรัฐฯ ยังได้สอบถามความคืบหน้าการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ ที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนในการเลี้ยง โดยไทยยืนยันว่าจะทำตามผลการประชุมคณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA) เมื่อเดือนเม.ย.2561 ที่ตกลงให้ทั้ง 2 ฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการบริโภคเนื้อหมูและเครื่องในที่มีแรคโตพามีนตกค้าง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน หรือประมาณต้นปี 2562 และขณะนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกัน และ USTR จะประชุมผ่านวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ วันที่ 17 ต.ค.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าจากกรมปศุสัตว์

”สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยยอมรับมาตรฐานองค์กรอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) ในเรื่องค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ของสารแรคโตพามีนในเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ แต่ในไทยไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงเลย ที่สำคัญโคเด็กซ์กำหนดปริมาณสารตกค้างในเนื้อหมู และส่วนอื่นๆ ของหมู ซึ่งไม่ได้กำหนดในเครื่องใน ขณะที่คนไทยกินเครื่องในทุกส่วน จึงยังไม่รู้ว่า หากคนไทยกินเนื้อหมู และเครื่องใน ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างจะมีผลดี ผลเสียอย่างไร จึงต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ชัดเจนก่อน”นายบุณยฤทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่สหรัฐฯ ส่งผู้ช่วย USTR มาพบนายบุณยฤทธิ์ เพราะนายบุณยฤทธิ์กำลังจะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 1 ต.ค.2561 นี้ 

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit    

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง