​เข้า BRICS โอกาสใหม่ของไทย

img

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ “ร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทย” ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ “กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS)” โดยอนุมัติให้ “นายกรัฐมนตรี” หรือ “ผู้แทน” ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของไทย
         
ที่ผ่านมา กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยาย “ความร่วมมือ” กับประเทศ “ที่ไม่ใช่สมาชิก” โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มใน “การประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS” ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.2567 ที่จะถึงนี้
         
โดยรัฐบาลมองว่า “การเข้าร่วม” เป็นสมาชิกกลุ่ม จะช่วยยกระดับ “บทบาทของไทย” ในฐานะผู้มีบทบาทนำใน “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการ “กำหนดทิศทาง” นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
         
ทั้งนี้ เพื่อ “ฉายภาพ” ให้เห็นถึง “โอกาส” และ “ประโยชน์” ที่จะเกิดขึ้นกับไทย “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้มอบหมายให้ “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” ทำการศึกษาการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้าน “บวก” และด้าน “ลบ”  

แต่ก่อนที่จะไปถึง “ผลการศึกษา” เรามารู้จักกลุ่ม BRICS กันก่อน กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2553 และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS พอต้นปี 2567 อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ได้เข้าร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสมาชิกรวม 10 ประเทศ และยังมีประเทศต่าง ๆ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มมากกว่า 40 ประเทศ
         


วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS คร่าว ๆ คือ การสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศพัฒนาแล้ว โดยจะส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน มนุษยธรรมและวัฒนธรรม
         
ทีนี้ มาดูผลการศึกษาของ สนค. กันบ้าง โดยมีผลสรุปออกมาว่า หากไทยได้รับ “การตอบรับ” เข้าร่วมกลุ่ม จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในเชิง “โอกาส” ทางการค้า การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ จำนวนมาก
         
ที่เด่น ๆ เลย ก็คือ “การค้าระหว่างประเทศ” จะทำให้ “การส่งออก” ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เกษตร อาหารแปรรูป รถยนต์ เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 57,211.0 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 20.1% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 0.4% สวนทางกับการส่งออกในภาพรวมที่ลดลง 1% โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วน 12% อินเดีย 3.6% แอฟริกาใต้ 1.2% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
1.1% และซาอุดีอาระเบีย 0.9%
         
ตามด้วย “การเปิดตลาดใหม่” ที่การเข้าร่วมกลุ่ม จะช่วยให้ไทย “เข้าถึงตลาด” ของกลุ่ม BRICS ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้ง “เชิงเศรษฐกิจ” และ “จำนวนประชากร” โดยปี 2565 กลุ่ม BRICS มี “ขนาดเศรษฐกิจ” 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก ด้วยมูลค่า 28.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.6% และมี “ประชากร” รวมกัน 3,617.6 ล้านคน คิดเป็น “เกือบครึ่งหนึ่ง” ของประชากรโลก สัดส่วน 45.5% โดยมี “อินเดีย-จีน” เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 2 อันดับแรก สะท้อนตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้ามาก ทำให้ผู้ส่งออกมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น
         
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในด้าน “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” ที่จะเปิดโอกาสให้ไทยได้รับการสนับสนุน “ทางการเงิน” และ “เทคโนโลยี” ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาเครือข่ายคมนาคม การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
         


การสร้างโอกาสทางการลงทุน” โดยนักลงทุนจากประเทศ BRICS เห็นโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในด้านการผลิต การบริการ และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วย “กระตุ้น” เศรษฐกิจไทย และ “สร้างงาน” ให้กับแรงงานภายในประเทศ โดยเฉพาะ “จีน” ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น
         
การสนับสนุนการท่องเที่ยว” โดยการเป็นสมาชิก BRICS อาจนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านวีซ่า หรือการทำข้อตกลงให้ประชาชนของประเทศสมาชิกเดินทางระหว่างกันได้ง่ายขึ้น
         
การเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” โดยการเป็นสมาชิก BRICS จะเปิดโอกาสให้ไทยเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น “การลงทุนร่วมกัน การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี” รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ไทยมีโอกาส “แสดงจุดยืน” และมี “บทบาท” ในการกำหนด “นโยบายระหว่างประเทศ” ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา
         
นายภูมิธรรม มีข้อสั่งการเพิ่มเติมว่า แม้การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะมี “ข้อดี” มากมาย แต่ก็มี “ความท้าทาย” ที่จะต้องพิจารณา เช่น การปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานและข้อกำหนดของกลุ่ม การแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก
         
ดังนั้น ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ จะต้อง “เตรียมการ” และ “วางแผนกลยุทธ์” เชิงรุก ที่สำคัญต้องเตรียม “ความพร้อม” ให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สามารถได้ “ประโยชน์สูงสุด” จากการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้
         
การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ถือเป็นการ “มองขาด” และมองเห็น “อนาคต

เพราะไม่เพียงช่วยเพิ่ม “บทบาทนำ” ให้กับไทยในเวทีโลก แต่ยัง “เพิ่มโอกาส” ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ได้อีกมากมายมหาศาล
         
จากนี้ ขึ้นอยู่กับว่า “ประเทศไทย” และ “ผู้ประกอบการไทย” จะพร้อมมากน้อยแค่ไหน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง