​“พาณิชย์”มั่นใจปีนี้ผลไม้เอาอยู่

img

ตั้งแต่เดือนเม.ย.2566 เป็นต้นไป ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “ฤดูกาลผลไม้” เพราะผลไม้หลาย ๆ ชนิด กำลังจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาด
         
ผู้บริโภคที่ชื่นชอบผลไม้ ตั้งหน้าตั้งตารอได้เลย 
         
โดยปี 2566 มีการคาดการณ์ว่า “ปริมาณผลผลิตผลไม้” จะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร
         
ในผลผลิตผลไม้ทั้งหมด พบว่า ทุเรียน เพิ่ม 18% มังคุด เพิ่ม 30% ลำไย เพิ่ม 1% เงาะ เพิ่ม 7% ลิ้นจี่ เพิ่ม 10% มะม่วง เพิ่ม 4% สับปะรด เพิ่ม 5%
         
จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ฝั่งผู้บริโภค ก็หวังที่จะบริโภคผลไม้ในราคาถูก ฝั่งเกษตรกร ก็หวังที่จะขายผลไม้ได้ในราคาสูง ฝั่งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ก็หวังที่จะซื้อถูก ไปขายแพง
         
ความต้องการทั้งหมดนี้ “กระทรวงพาณิชย์” ทราบมาโดยตลอด จึงได้เข้าไปบริหารจัดการ เพื่อให้เกิด “ความสมดุล” สำหรับทุกฝ่าย และทุกฝ่ายอยู่ได้
         
ปีนี้ ได้มีการ “ทำคลอด” มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 ออกมาแล้ว มีทั้งสิ้น 22 มาตรการ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านการตลาดในประเทศ ด้านการตลาดต่างประเทศ และด้านกฎหมาย
         
ทั้ง 22 มาตรการ ส่วนใหญ่เป็น “ความรับผิดชอบ” ของหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ หลัก ๆ เลย คือ “กรมการค้าภายใน” และ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ที่เหลือก็มี “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” และ “กรมการค้าต่างประเทศ” ที่จะเข้ามาแจมในส่วนของงานที่รับผิดชอบ ส่วนหน่วยงานอื่น ก็มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และ กอ.รมน. เป็นต้น ที่จะเข้ามาเสริม

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” บอกว่า มาตรการผลไม้ในส่วนที่กรมฯ รับผิดชอบ เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อผลไม้ออกสู่ตลาด



มาตรการที่จะเป็น “หัวหอก” ในปีนี้ คือ “อมก๋อย โมเดล” จะถูกนำมาใช้ “ดึงราคาผลไม้” ตรงไหน มีปัญหา “ราคาตก” หรือ “ถูกกดราคา” อมก๋อย โมเดล จะเข้าไปทันที พาผู้ประกอบการ ห้าง ผู้ผลิต ไปซื้อตรงจากเกษตรกร แล้วจะซื้อใน “ราคานำตลาด” ใครรอกดราคา ก็รอไป ไม่มีของให้ซื้อ แล้วจะหาว่า “ไม่เตือน” ไม่ได้

เป้าหมายรับซื้อผ่าน “อมก๋อย โมเดล” ตั้งไว้ที่ 1 แสนตัน ทุกผลไม้ ตอนนี้เริ่มที่ “มะม่วง” แล้ว และต่อไปถึงแม้จะซื้อ “เต็มโควตา” แต่ถ้ามีปัญหา ก็เพิ่มได้ตลอด   
         
มาตรการต่อมา “กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต” เป้าหมาย 9 หมื่นตัน โดยช่วยเหลือค่ากระจายผลผลิตให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการกิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท
         
มาตรการ “ขายผ่านรถเร่ รถโมบาย” จะเข้าไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในช่วงผลไม้ออก เป้าหมาย 3 หมื่นตัน
         
มาตรการ “เปิดจุดจำหน่ายที่ห้าง ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน” เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลไม้ไปขาย เป้าหมาย 1 แสนตัน
         
มาตรการ “รณรงค์บริโภคผลไม้” จะจัดงาน Fruit Festival ทั้งกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว กระตุ้นการบริโภค เป้าหมาย 4.2 หมื่นตัน ในมาตรการนี้ “สายการบิน” จะสนับสนุน “การโหลดผลไม้” ขึ้นเครื่องฟรี 20 กก.ด้วย
         
มาตรการ “สนับสนุนกล่อง” ให้กับเกษตรกร เป้าหมาย 3 แสนกล่อง
         
มาตรการ “ส่งเสริมการแปรรูป” ซึ่งปีที่แล้ว เป็นมาตรการเสริม ปีนี่จะใช้เป็นมาตรการหลัก จะเน้นแปรรูป “ลำไยอบแห้ง-ทุเรียนแช่แข็ง” เป้าหมาย 2.2 แสนตัน ที่เด็ด ๆ ปีก่อน มีการนำ “ทุเรียนแช่แข็ง” ไปจำหน่ายราคาถูก ผ่านตู้แช่ที่สถานีรถไฟฟ้า เรียกเสียง “ฮือฮา” และ “ถูกใจ” คอทุเรียนเป็นอย่างมาก
           
มาตรการ “พรีออเดอร์ผลไม้” เปิดให้โรงงาน 3 หมื่นแห่งใน 60 นิคมอุตสาหกรรม สั่งซื้อผลไม้ล่วงหน้า เป้าหมาย 1.5 หมื่นตัน
         


มาตรการ “อบรมการตลาดในประเทศและส่งออก” ผ่านออนไลน์และออฟไลน์ เป้าหมาย 2.5 พันคน
         
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่เป็นมาตรการ “อำนวยความสะดวก” และเพิ่ม “ความคล่องตัว” ที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น การผ่อนปรนเคลื่อนย้ายแรงงาน สนับสนุนการคัดแยก ขนย้ายผลไม้ ทำงานร่วมกับเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ ในการระบายผลไม้ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และพ.ร.บ.ชั่งตวงวัด
 
ส่วนมาตรการที่ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” รับผิดชอบ เช่น การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ช่วยดอกเบี้ยและส่งออก เป้าหมาย 1 แสนตัน การจัดเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศในโครงการ Thai Fruits Golden Months การขายผ่าน TV Shopping การส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ Gulf Food การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย  

เท่าที่ทราบ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ “เตรียมการ” ไว้หมดแล้ว หลายมาตรการ “ทำไปแล้ว” และหลายมาตรการกำลังอยู่ระหว่าง “ดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ “จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค” ที่จะนำผลไม้ไปจำหน่ายส่งตรงถึงผู้บริโภคในจังหวัดชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน และการเจรจาแก้ไข “ปัญหาอุปสรรค” ทางการค้าผลไม้ ที่จะดำเนินการทันที หากมีปัญหาเกิดขึ้น

จากมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 ที่กำหนดไว้ หากถามความเห็น ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่า เป็นมาตรการที่ “รัดกุม” และ “เล็งเห็นผลได้” เพราะนับไปนับมา มีการ “หาตลาดล่วงหน้า” ให้กับผลไม้ได้รวมกว่า 7 แสนตัน

และตามแผนไม่ใช่ว่า เมื่อ “เชื่อมโยง” ซื้อขายผลไม้ได้ครบแล้ว “จะจบ” ทันที แต่สามารถ “เพิ่มเติม” ได้ตลอด

เพราะ “เป้าหมาย” คือ การสร้าง “สมดุล” ราคาผลไม้ ให้ทุกฝ่ายอยู่ได้

วิน วิน ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ

เห็นแบบนี้แล้ว เชื่อว่า ปีนี้ ผลไม้ “เอาอยู่” แน่นอน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด