​อคส.ตามคืนเงินโกง5.4แสนล้าน

img

วันนี้มี “ความคืบหน้า” การติดตาม “ทวงคืน” เงินที่ทุจริตในโครงการ “จำนำข้าว-จำนำมัน-ถุงมือยาง” มา “อัปเดต” ให้ทราบ
         
ปัจจุบัน “ความเสียหายหลัก” ยังอยู่ที่ “โครงการรับจำนำข้าว” มากที่สุด มีมูลค่าประมาณ 504,861 ล้านบาท รองลงมา คือ “โครงการมันสำปะหลัง” ประมาณ 33,000 ล้านบาท และ “โครงการจัดซื้อถุงมือยาง” มูลค่า 2,000 ล้านบาท
         
รวมแล้ว มีมูลค่าความเสียหาย ที่ “องค์การคลังสินค้า (อคส.)” ต้องตามทวงคืนราว ๆ 539,861 ล้านบาท
         
การตาม “ทวงหนี้” ที่ผ่านมา อคส. ได้ทำการ “ฟ้องร้องดำเนินคดี” กับผู้ที่กระทำการทุจริต หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตไปแล้ว
         
ทีนี้ มาดูกันแบบชัด ๆ แต่ละโครงการมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน

เริ่มจากการติดตามเงินจาก “โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรัง ปี 2554-57” ซึ่งเป็นช่วงที่มี “การทุจริต” มากที่สุด  
         
โครงการนี้ อคส. ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าของโกดัง คลังสินค้า โรงสี บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ถึงตอนนี้ มีทั้งสิ้น 1,180 คดี ความเสียหาย 504,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37 คดี จากช่วงก่อนหน้านี้ ที่ส่งฟ้องแล้ว 1,143 คดี รวมความเสียหาย 494,198 ล้านบาท
         
โดย 37 คดี ที่เพิ่มขึ้น เป็นการฟ้อง “คดีแพ่ง” ในฐานะที่เจ้าของโกดังและคลังสินค้า รวมถึงเซอร์เวเยอร์ ทำให้น้ำหนักข้าวในสต๊อกหายไปมากกว่าปริมาณเผื่อเหลือเผื่อขาดที่กำหนดไว้ หรือหายไปมากกว่า 1% ทำให้ อคส. เสียหายมากกว่า 500 ล้านบาท
         


ไม่เพียงแค่นั้น ยังฟ้องร้องเจ้าของคลังสินค้าบางรายใน “คดีอาญา” เพราะมีการยึดหน่วงข้าวที่ฝากเก็บ ไม่ยอมให้ผู้ชนะการประมูลข้าวสต๊อกรัฐช่วงที่ผ่านมา เข้าไปขนย้ายข้าวออกจากคลัง หรือโกดัง จนทำให้ผู้ชนะประมูลเสียโอกาสทางธุรกิจ และบางรายยกเลิกการซื้อ ทำให้ อคส. เสียหาย
         
ส่วนคดีที่ส่งฟ้องก่อนหน้านี้ 1,143 คดี มีทั้งที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด มีคดีที่ตัดสินแล้ว 15 คดี อคส.ชนะเพียง 3 คดี และแพ้สูงถึง 12 คดี ซึ่งคดีที่แพ้ส่วนใหญ่ เป็นกรณีที่ อคส. ฟ้องเจ้าของคลังสินค้า ทำให้ข้าวเสื่อมสภาพ
         
เห็นแล้ว น่า “ตกใจ” ก็ต้องไปปรับปรุงสำนวน ปรับปรุงพยานหลักฐานให้รัดกุมมากกว่านี้
         
ทั้งนี้ ความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ยังไม่จบเพียงแค่นี้ ยังมีข้าวอีก 2 แสนตัน ที่รอเปิดประมูลอยู่ หากประมูลไปแล้ว ขายได้เท่าไร จำนำมาเท่าไร ก็จะรู้ส่วนต่างที่รัฐเสียหาย และต้องทำการฟ้องร้องต่อไป
         
สำหรับคดีทุจริต “โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2551/52 ปี 2554/55 และปี 2555/56” ส่งฟ้องแล้ว 164 คดี ความเสียหาย 20,065 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 คดีจากก่อนหน้านี้ ที่ส่งฟ้อง 161 คดี ความเสียหาย 18,723 ล้านบาท
         
คดีที่ฟ้องส่วนใหญ่ เป็นการฟ้องร้องว่าผู้รับฝากเก็บมันสำปะหลังในสต๊อก ทำให้มันหายไปจากสต๊อก หรือเสื่อมคุณภาพ

ล่าสุด ศาลตัดสิน “จำคุก” ผู้กระทำผิดแล้ว 26 คดี

อย่างไรก็ตาม มีคดีที่เหลือที่ยังไม่ส่งฟ้องอีกมาก ซึ่ง อคส. จะทยอยส่งฟ้องคดีที่เหลือให้เสร็จสิ้นในเร็ว ๆ นี้ ประเมินคร่าว ๆ มีมูลค่าความเสียหายอีกประมาณ 13,000 ล้านบาท รวม ๆ ทั้งหมด จะเสียหายประมาณ 33,000 ล้านบาท 



ขณะที่คดีทุจริต “จัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท” ก็มีความคืบหน้า ตอนนี้รอเพียงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลผู้กระทำผิด

ถ้าป.ป.ช.ชี้มูลได้เมื่อไร นอกจากจะทำให้อัยการส่งฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดแล้ว สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) ก็จะสามารถดำเนินการทางแพ่งเพื่อติดตามเงิน 2,000 ล้านบาท ที่พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผู้อำนวยการ อคส.และพวก ได้ร่วมกันถอนออกจากบัญชี อคส. ไปจ่ายเป็นค่ามัดจำถุงมือยางให้กับเอกชนคู่สัญญา ที่รับจ้างผลิตถุงมือยาง เอามาคืนให้กับ อคส. ได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เช่น เงาะ ลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้ง ตั้งแต่ปี 2542/43 เป็นต้นมาอีกประมาณ 34 โครงการ ที่ยังไม่สามารถปิดโครงการได้ และ อคส. อยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส.” คนปัจจุบัน ยืนยันว่า จะติดตามเงินที่ทุจริตในโครงการต่าง ๆ กลับคืนมาให้ได้ทั้งหมด รวมถึงโครงการทุจริตที่มีมูลค่าไม่มาก เพราะเงินเหล่านี้ เป็นเงินงบประมาณ เป็นภาษีประชาชน จะต้องตามคืนมาให้ได้ ทุกบาท ทุกสตางค์
         
เป็นความคืบหน้าล่าสุด ของโครงการทุจริตที่อยู่ในมือ อคส. และมีมูลค่า “ความเสียหาย” มหาศาลเกือบ 5.4 แสนล้านบาท
         
ส่วนจะ “ตามเงินคืน” ได้มากน้อยแค่ไหน
         
คงเป็น “หนังชีวิต” ที่ต้องใช้เวลากันอีกยาวนาน
         
กว่าจะถึง “ตอนจบ
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง