​ปิดฉาก “เอเปก” งดงาม

img

ปิดฉากไปแล้วสำหรับ “การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก” หรือ Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.2565 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
         
การประชุมครั้งนี้ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
         
ก่อนเริ่มการประชุม ก็ถือว่า “ประสบความสำเร็จ” หลังจาก 21 เขตเศรษฐกิจได้ “ตอบรับ” เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง ยกเว้นแค่ “จีน” ที่ประชุมผ่านออนไลน์ เพราะติดสถานการณ์ “โควิด-19” ในประเทศ
         
ช่วงก่อนการประชุม มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการสัมมนา การเสวนานานาชาติ และการจัดประกวดทำแอปพลิเคชัน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
         
ทุกกิจกรรมได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คนให้ “ความสนใจ” และเข้าร่วมอย่าง “ล้นหลาม

เริ่มจากงานสัมมนา “การขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต” วันที่ 19 พ.ค.2565
         
งานนี้ ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เห็นตรงกัน ที่จะต้องเร่งผลักดัน “FTAAP” ให้สำเร็จตามเป้าหมายในปี 2040 หรือปี 2583
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมในครั้งนี้ ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา และระบุว่า ถ้า FTAAP สำเร็จ จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
         
ใหญ่แค่ไหนมาดู มีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มี GDP คิดเป็น 62% ของ GDP โลก มีมูลค่าประมาณ 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,768 ล้านล้านบาท มูลค่าการค้ารวม 21 เขตเศรษฐกิจ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 608 ล้านล้านบาท
         
ที่จะเห็นได้ชัดเจนเลย ก็คือ มูลค่าการค้าในปี 2040 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-400% ไทยก็จะเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน
         


ถัดมาอีกวัน 20 พ.ค.2565 นายจุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน “เสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022” และได้โชว์นโยบายการขับเคลื่อน BCG ของไทย
         
งานนี้เรียกเสียง “ฮือฮา” และ “เห็นด้วย” กับไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ SMEs และ Micro SMEs ใน “ภาคการผลิต” และ “ภาคบริการ” ใช้ BCG เพื่อขับเคลื่อนการทำธุรกิจ
         
พร้อม “ตั้งเป้า” จะผลักดันเรื่อง BCG ให้เป็นประเด็นสำคัญในเอเปกด้วย
         
จากนั้น นายจุรินทร์ได้ใช้โอกาสก่อนที่จะเริ่มต้นการประชุม เจรจาว่าความกับ “นางแคทเธอรีน ไท” ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ครั้งนี้ “ยิงหมัดตรง” ไม่อ้อมค้อม ขอให้ “ปลดไทย” ออกจากบัญชี WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในเดือนก.ย.นี้ และขอให้สหรัฐฯ มา “ลงทุน” ในไทย เพื่อผลิตสินค้าและวัตถุดิบป้อนสหรัฐฯ 
         
ส่วนสหรัฐฯ ขอให้ไทยสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกปีหน้า เห็นพ้องหนุนการประชุม WTO และชวนไทยเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก
         
แต่ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกในวันรุ่งขึ้น ช่วงดึกของวันที่ 20 พ.ค.2565 นายจุรินทร์ต้องการตรวจสอบ “ความพร้อม” ของ “สถานที่จัดประชุม” จึงได้เดินทางไปตรวจงานด้วยตนเอง มี “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” คอยประกบ และอธิบายอยู่ข้าง ๆ  
         
รัฐมนตรีตรวจสอบโน่น นั่น นี่ อย่างจริงจัง ปรากฏว่า “สมบูรณ์แบบ” ไม่มีอะไรผิดพลาด ก่อนกลับไปพักผ่อน
         
วันที่ 21 พ.ค.2565 เป็นวันดีเดย์การประชุมรัฐมนตรีเอเปกอย่างเป็นทางการ นายจุรินทร์ นั่งหัวโต๊ะเปิดการประชุม โดยย้ำต่อที่ประชุมว่า ไทยมี 3 ธีมหลัก คือ “Open. Connect. Balance” และมีเป้าประสงค์ คือ ผลักดันการทำ FTAAP ให้สำเร็จ การส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคี และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งชูนโยบาย BCG Model ให้เอเปกรับไปพิจารณา
         


ช่วงการประชุม นายจุรินทร์ ได้หารือกับ “นายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ” ของรัสเซีย ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ทั้งการเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ การผลักดัน FTA ไทย-ยูเรเซีย

ขณะที่รัสเซีย ยืนยันเป้าหมายการค้า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องทำให้สำเร็จ พร้อมสนับสนุนให้ “นักท่องเที่ยวรัสเซีย” เดินทางมาไทย และขอให้มีการเปิดเที่ยวบินตรง ต้องการ “นำเข้า” สินค้าไทย ทั้ง “อาหาร-ยานยนต์” รวมทั้งลงทุนด้านไอที

ต่อมาได้หารือกับ “นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น” ได้ชวนญี่ปุ่นให้มา “ลงทุน” ในไทยเพิ่ม และเห็นตรงกันกับการใช้ประโยชน์จาก RCEP ขยายการค้าของทั้ง 2 ฝ่าย

จากนั้น ได้เป็นประธานการลงนาม “อัปเกรด FTA ไทย-เปรู” หลังมีการปรับปรุง “กฎถิ่นกำเนิดสินค้า” ให้มีความทันสมัย และเอื้อต่อการ “ค้าขาย” มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการประชุม มี 5 ชาติ คือ “สหรัฐฯ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย” ได้ “วอล์กเอ้าท์” ออกจากการประชุม หลังรัสเซียกล่าวถ้อยแถลง แต่นายจุรินทร์ ก็ยัง “คุมเกม” ได้ และ “ไม่กระทบ” ต่อการประชุมที่เหลือ  
         
วันที่ 22 พ.ค.2565 นายจุรินทร์เป็นประธานการประชุมอีกครั้ง โดยตั้งเป้าที่จะ “สรุป” ประเด็นที่รัฐมนตรีเอเปกเห็นชอบ และออก “แถลงการณ์ร่วม
         
ทว่า การประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เพราะมี “ความเห็นไม่สอดคล้องกัน” ในเรื่องสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือถ้าให้พูดตรง ๆ ก็ประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั่นแหละ
         
แต่นายจุรินทร์ ก็หาทาง “ปิดจบ” ได้ เพราะในเมื่อออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ ก็ออกเป็น “Chair Statement” ออกมาแทน
         
โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ ที่ ๆ ประชุมเห็นพ้องต้องกัน คือ การผลักดัน FTAAP ให้สำเร็จ การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจ ทั้งบุคคล สินค้าและบริการ การสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบาย BCG ที่ไทยผลักดัน การสนับสนุนการค้าในรูปแบบพหุภาคี รวมทั้ง WTO และการจับมือเดินไปด้วยกันในสถานการณ์โควิด-19 และในอนาคต
         
ถือว่า “ปิดฉาก” ได้อย่างงดงาม
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด